กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจสารตะกั่วในถ้วย ชามเซรามิก ที่สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบ 2 ตัวอย่าง ไม่พบสารตะกั่วปนเปื้อน ทั้งชามชนิดแต่งลายด้านใน และชนิดไม่มีลาย นับเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ผลิตที่เน้นความปลอดภัยของผู้ใช้
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างภาชนะเซรามิกที่วางขายตามตลาดนัดหมู่บ้าน ริมถนน ไม่มีแหล่งผลิตชัดเจน ตรวจวิเคราะห์เพื่อคัดกรองความปลอดภัยของสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผลการตรวจวิเคราะห์ พบมีตะกั่วละลายออกมาเฉพาะภาชนะที่มีการแต่งลายด้านในเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากการตกแต่งลายใช้สีที่มีตะกั่วเจือปนหรือการเคลือบผิวภาชนะไม่ได้มาตรฐาน การตรวจได้ใช้ชุดทดสอบในการตรวจเบื้องต้น ตัวอย่างที่พบตะกั่วจะตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตะกั่วเมื่อเข้าสู่ร่างกายและสะสมจนถึงระดับทำให้เกิดพิษจะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทและสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ตัวสั่น ทำลายไต ทำลายเม็ดเลือดแดง ตามที่ได้เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน เพื่อการเลือกซื้อภาชนะใส่อาหารประเภทเซรามิกให้ปลอดภัยไปแล้วนั้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเซรามิก ได้ส่งตัวอย่างภาชนะ เซรามิกใส่อาหาร จำนวน 2 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ชามเซรามิกที่แต่งลายด้านใน จำนวน 6 ชิ้น และถ้วยเซรามิกมีหู ไม่มีลวดลายด้านใน จำนวน 6 ชิ้น เพื่อให้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์โลหะหนัก สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ยืนยันการละลายของสารตะกั่วจากภาชนะดังกล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ภาชนะเซรามิกที่ส่งโดยสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ด้วยวิธีที่ใช้ประจำในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล (Official Methods of Analysis of AOAC Internationnal/ 499.17:2005) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ปรากฏว่าถ้วยชามเซรามิกของบริษัทดังกล่าวได้มาตรฐาน ไม่พบการละลายของสารตะกั่วจากภาชนะทั้ง 2 ตัวอย่างแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นตัวอย่างของผู้ผลิตที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แก่ประชาชนผู้ใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดต้องการส่งภาชนะเซรามิกใส่อาหารเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของปริมาณสารตะกั่วที่ละลายสู่อาหารที่บรรจุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยินดีให้บริการ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการตามไอเอสโอ/ไออีซี 17025 (ISO/IEC 17025) จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการระดับนานาชาติ และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนในการตรวจสารโลหะหนักและสารตกค้างในอาหาร (ASEAN Reference Laboratory on Heavy Metals and Trace Elements in Food)
********************************** 30 ธันวาคม 2550
View 9
30/12/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ