นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าจากการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2550 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ประชุมชื่นชมความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมปัญหาเอดส์ของประเทศไทย และมีมติให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติในครั้งหน้า ที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนเมษายน 2551 นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติมาเป็นสมัยที่ 2 ครั้งนี้เป็นมา 2 ปีแล้ว และได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการบริหารฯ ตั้งแต่มิถุนายน 2550 ถึงเมษายน 2551 ด้วย การประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 21 มีประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันมากคือ กรอบการประเมินผลองค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติ และแนวทางการจัดประชุมคณะกรรมการบริหาร นอกนครเจนีวา ด้วยประสบการณ์ของคณะผู้แทนไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนจากคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่น ณ นครเจนีวา โดยท่านเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ทำให้ที่ประชุมได้ข้อสรุป กรอบการประเมินผล 10 ปีขององค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติอย่างเป็นเอกฉันท์ และมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 22 ในหัวข้อ “วัณโรคและการติดเชื้อ HIV” ในเดือนเมษายน 2551 ด้วย ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ที่ประชุมชื่นชมความสำเร็จของไทยมาก และชื่นชมภาวะผู้นำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานที่ประชุม รวมทั้งชื่นชมไทยที่เป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐด้วยกัน และองค์กรเอกชน การที่เราได้เชิญท่านวุฒิสมาชิก มีชัย วีระไวทยะ มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังได้อนุมัติเงินสนับสนุนคณะกรรมการนี้ถึง 500 ล้านบาท เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ทุกคนชื่นชม ทางด้านนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ครั้งแรกประเทศเคนยา ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพด้วย แต่เมื่อได้ฟังความเห็นและข้อมูลจากที่ประชุมแล้ว ก็ได้แสดงสปิริต ขอถอนข้อเสนอออกไป เพราะส่วนใหญ่เห็นควรจัดที่ประเทศไทย” ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารองค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติ มาจากประเทศสมาชิก องค์การเอกชนสาธารณประโยชน์ในหมู่ผู้ติดเชื้อ และองค์กรสหประชาชาติอีก 10 องค์กร ทำหน้าที่ประสานงานและกำหนดนโยบายเอดส์ระดับโลก เช่นเดียวกับคณะกรรมการเอดส์ชาติที่ทำหน้าที่ในระดับประเทศ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยได้รับการเสนอเป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติ จึงเป็นเกียรติอย่างสูงสุด นายแพทย์สุวิทย์กล่าว ******************************* 20 ธันวาคม 2550


   
   


View 11    20/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ