“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 350 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขจับมือราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รณรงค์การตรวจคัดกรองการได้ยินเพิ่มคุณภาพชีวิตในทารกแรกคลอด หากพบก่อน 6 เดือน เข้ารักษา สามารถมีพัฒนาการเท่าเด็กทั่วไป
วันนี้ (8 สิงหาคม 2561) ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง เสาวรส ภทรภักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทยและนายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เปิด “โครงการรณรงค์การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกคลอด”
นพ.เจษฎากล่าวว่า การสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมของเด็กโดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต พบได้ 3-5 คนในทารกปกติ 1000 คน และสูงถึง 3-5 คนในทารกกลุ่มเสี่ยง 100 คน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมกับราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย จัดโครงการรณรงค์ “การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกคลอด” ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์รัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ให้เข้าถึงบริการรักษา โดยจัดบริการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกคลอดในโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ ใช้วิธีการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน (Otoacoustic emission ; OAE) ซึ่งเป็นวิธีพื้นฐานไม่ซับซ้อน หากพบว่ามีภาวะบกพร่องทางการได้ยินจะส่งต่อเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ภาวะบกพร่องทางการได้ยินส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการของเด็กในด้านภาษา การเรียนรู้ในสังคม การเรียน การงาน และคู่ครองในอนาคต ซึ่งหากสามารถตรวจหาสาเหตุ และวินิจฉัยโรคประสาทหูเสื่อมได้ก่อนอายุ 6 เดือน และได้รับการรักษา เช่น ใส่เครื่องช่วยฟัง แก้ไขฟื้นฟู ฝึกพูด ฝึกฟัง ทำการผ่าตัด จะสามารถมีพัฒนาการด้านต่างๆ เท่าทันเด็กทั่วไป จึงขอเชิญชวนประชาชนพาบุตรแรกคลอดที่ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง หรือหากมีอายุ 1 ปีแล้ว สงสัยว่ามีปัญหาการได้ยินเช่นเรียก พ่อ แม่ไม่ได้ ขอให้รีบพามาตรวจและรับการรักษา
สำหรับทารกกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาการได้ยินบกพร่อง ได้แก่ 1 ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม หรือคลอดก่อนกำหนด 2.มีความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า และหูแต่กำเนิด มารดาได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อเด็กขณะตั้งครรภ์ 3.มารดามีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ 4.ภาวะตัวเหลืองจนต้องถ่ายเลือด 5.มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคประสาทหูพิการ เป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิด 6.มีปัญหาระหว่างคลอด แรกคลอดต้องอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยแรกเกิด 7.ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้รับยาที่มีพิษต่อหู 8.ภาวะขาดออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์มารดาหรือระหว่างคลอด 9.มีลักษณะที่เข้ากับโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติทางการได้ยิน 10.ภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอด หรือภาวะที่มารดามีน้ำตาลในเลือดสูงในคณะตั้งครรภ์
ทั้งนี้ ตามโครงการนี้ จะดำเนินการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลขนาดใหญ่และขยายไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์อัตรากำลังบุคลากร อบรมระยะสั้นให้แก่เจ้าหน้าที่ เพิ่มการผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านหู และนักโสตสัมผัสและสื่อความหมาย จัดหาอุปกรณ์ในการตรวจคัดกรองการได้ยิน รวมถึงการจัดระบบสารสนเทศการนิเทศติดตามความก้าวหน้า และระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ
************************************* 8 สิงหาคม 2561