รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดันกฎหมายควบคุมเหล้าให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาผ่านวาระ 2 และ 3 ในปลายปี 2550 นี้ ชี้ผลการวิจัยฟันธง สุราไมใช่สินค้าธรรมดา เพราะทำให้เกิดผลเสียตามมาทั้งค่ารักษาพยาบาล ต้นทุนการสูญเสียผลิตภาพ จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและจากการขาดงานและการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ต้นทุนการบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้องคดี และต้นทุนจากทรัพย์สินที่เสียหาย รวมแล้วสูงกว่าภาษีที่เก็บได้ถึงปีละกว่าแสนสองหมื่นล้านบาท
บ่ายวันนี้ (22 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขปิดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 3 เรื่อง " สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา " จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) และภาคีเครือข่าย 20 องค์กร โดยได้มอบรางวัลให้แก่คุณกมลทิพย์ ขลังพลังเนียม ผู้ชนะเลิศผลงานวิชาการเรื่อง " เส้นทางเข้าสู่น้ำเมาของเด็กวัยรุ่นในบริบทสังคมวัฒนธรรมอีสาน กรณีศึกษาชุมชนชานเมืองจังหวัดขอนแก่น " และมอบรางวัลผู้ชนะเลิศภาพถ่ายผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชื่อภาพว่า " จุดจบคอสุรา " ผลงานของนางสาวพัชรานันท์ บุญเติม ภาพชุด " กับแกล้ม " ของนายเสกสรร หวังใจสุข และ " เหล้าแก้วสุดท้าย " ผลงานของนายวีระพันธ์ ไชยศิริ
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ในแต่ละปี มีคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 16.2 ล้านคน และเสียเงินซื้อไปเกือบ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 197,576 ล้านบาท ขณะที่รัฐได้รายได้จากภาษีสรรพสามิตสุราเพียงปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท หมายถึงรัฐขาดทุนปีละกว่า 120,000 ล้านบาท รัฐควรทบทวนแนวคิดว่าต้องเข้มงวดกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น เนื่องจากรัฐต้องสูญเสียงบประมาณแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภายหลังจำนวนมหาศาล
"สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าทั่วๆไป เพราะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมพิเศษเพื่อลดผลกระทบปัญหาดังกล่าว ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพยายามเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งยาวนานถึง 6 เดือนแล้ว และจะส่งกลับเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 นี้ เพื่อให้มีการพิจารณารับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2551 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยลดการโฆษณามอมเมาเยาวชน ลดการส่งเสริมการขายด้วยวิธีลด-แลก-แจก-แถม จำกัดการเข้าถึงและการหาซื้อหรือดื่มที่สะดวกเกินไป และ เกิดหน่วยงานระดับชาติที่จะทำหน้าที่หลักในการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาสุราอย่างต่อเนื่องต่อไป นายแพทย์มงคล กล่าว
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า การศึกษาต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปี 2549 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) พบว่า ผลกระทบจากการที่คนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ เพียงแค่ 1 ปี ทำให้ ประเทศ ชาติสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลสูงถึง 197,576 ล้านบาท โดยที่หนึ่ง เป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาล 5,623 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.8 สอง เป็นต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร 128,365 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65.0 สาม เป็นต้นทุนการสูญเสียผลิตภาพ(Productivity) จากการขาดงานและการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน 62,638 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.7 สี่เป็นต้นทุนจากการบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้องคดีความ 171 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 และห้าเป็นต้นทุนจากทรัพย์สินที่เสียหาย 779 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.4
โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ค่าใช้จ่ายการสูญเสียสูงมากขนาดนี้ เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรถึง 38,868 คนในหนึ่งปี โดยที่การตาย 4 อันดับแรก ได้แก่ การตายจากโรคเอดส์ 9,254 ราย จากอุบัติเหตุจราจรทางบก 8,086 ราย จากมะเร็งตับ 5,953 ราย และจากโรคตับแข็ง 5,094 ราย และ ก่อให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานและขาดประสิทธิภาพในการทำงานรวมกันมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30 44 ปี สูญเสียผลิตภาพคิดเป็นมูลค่า 25,964 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 41.5 กลุ่มอายุ 45 59 ปี 18,661 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 29.8 และ กลุ่มอายุ 15 29 ปี หรือ ร้อยละ 23.8
ดร.น.พ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ กล่าวว่า " ข้อมูลทั้งหมดยืนยันชัดเจนว่าการดื่มแอลกอฮอล์มิได้ส่งผลเสียเฉพาะ ผู้ดื่มเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมความสูญเสียที่เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มากกว่ารายได้รัฐได้รับจากภาษีสรรพาสามิตสุรา โดยในปี 2549 รัฐเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เพียง 72,871 ล้านบาท ขณะที่ผลเสียที่เกิดขึ้นมีถึง 197,576 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานทางจิตใจที่ตามมา และ ผลเสียหายที่เกิดกับครอบครัวอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการควบคุมพิเศษอย่างเข้มข้น
******************************* 22 พฤศจิกายน 2550
View 8
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ