รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพัฒนาด้านวิชาการ ระบบบริการ การวิจัย ของเขตสุขภาพ กับ 19 คณะแพทยศาสตร์ ตามยุทธศาสตร์จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ครอบคลุม 5 สาขา ทั้งการผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด มะเร็ง และการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้มาตรฐาน แบบไร้รอยต่อ ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว 
                วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5 – 10 ปี) เป็นความร่วมมือในการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระบบส่งต่อที่มีคุณภาพมาตรฐานภายในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ การพัฒนาบุคลากร และการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข
                 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่าง 12 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข  กับ 20 คณะแพทยศาสตร์ ของ 19 มหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ พบว่าทุกเขตสุขภาพ ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่ พัฒนาใน 3 เรื่อง ทั้งด้านวิชาการ ระบบบริการ และการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่  ตามยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น ครอบคลุมความเชี่ยวชาญใน 5 สาขา ได้แก่ การผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด มะเร็ง และปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น โรงพยาบาลขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริการผ่าตัดหัวใจ สามารถลดอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยที่สุด อันดับ 1 ของประเทศ ลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดหัวใจจาก 8 เดือน เหลือ 6 เดือน มีการผลิตพัฒนาบุคลากรในหลากหลายหลักสูตร อาทิ เวชศาสตร์ชุมชน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) พยาบาลเฉพาะทาง เป็นต้น พร้อมทั้งมอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพ หารือกับคณะแพทยศาสตร์ ร่วมกันกำหนดการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ และกำหนดเป็นตัวชี้วัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะ 1 ปี อย่างน้อยเขตละ 1 เรื่อง
                 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ฯ ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา โดยให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนการดำเนินงานระยะ 3 ปีแรก จัดลำดับความสำคัญ และปรับลดจาก 20 ศูนย์ เป็น 6 ศูนย์ตามเขตการปกครอง 6 ภาค ขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดเพื่อเสนอคณะกรรมการ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
*******************  กุมภาพันธ์ 2561
 
 


   
   


View 32    14/02/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ