รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามผลกระทบมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง เผยผลการตรวจปัสสาวะประชาชนใน 25 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในรอบ 5 เดือนนี้ พบกว่า 300 ราย มีสาร เบนซีน ซึ่งอาจก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว สูงเกินมาตรฐาน เร่งเดินหน้าแผนดูแลสุขภาพ 4 ปีต่อเนื่อง ปี 2551 นี้ พัฒนาโรงพยาบาลระยอง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ และย้ายโรงพยาบาลมาบตาพุดออกนอกเขตอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยจากมลภาวะสิ่งแวดล้อม ใช้งบกว่า 200 ล้านบาท วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์กำจัด รามกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค นายแพทย์วิวัฒน์ วิริยกิจจา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง ตรวจเยี่ยมติดตามการเตรียมความพร้อม และการเตรียมให้บริการรองรับปัญหาและผลกระทบด้านสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่โรงพยาบาลระยองและโรงพยาบาลมาบตาพุด นายแพทย์มรกต กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการมาที่จังหวัดระยองครั้งนี้ เพื่อติดตามมาตรการเฝ้าระวังและแก้ไขผลกระทบสุขภาพของประชาชน จากมลพิษในอากาศที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม โรคที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญได้แก่ โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคผิวหนัง โดยสารเคมีที่ตรวจพบมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด ได้แก่สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในอากาศ และสารโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ปรอทที่พบในน้ำ จำเป็นที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งควบคุมแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ซึ่งในพื้นที่ระยองมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 1,704 แห่ง เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมี 71 แห่ง ทั้งจังหวัดมีประชากรรวมประชากรแฝงอยู่ทั้งหมด 8 แสนกว่าคน ทั้งนี้ในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาให้โรงพยาบาล สถานีอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองมาบตาพุด 6 แห่ง เป็นสถานีเฝ้าระวังโรคผิวหนังและโรคระบบทางเดินหายใจ ผลจากการเฝ้าระวัง ในรอบ 10 เดือนนี้ ยังไม่พบความผิดปกติ และได้ดำเนินการตรวจสุขภาพประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ 25 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และตรวจสอบสารเคมีที่ตกค้างในร่างกาย เพื่อประเมินความเสี่ยงภัยจากมลพิษ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม โดยตรวจปัสสาวะหาสารอินทรีย์ระเหยง่าย 3 ชนิดที่ใช้มากในอุตสาหกรรมย่านนี้ ได้แก่ เบนซีน (Benzene) โทลูอีน (Toluene) และสไตรีน (Styrene) ทั้งหมด 2,177 ราย ผลการตรวจพบว่ามี 329 ราย หรือร้อยละ 16 มีสารเบนซีนสูงเกินมาตรฐาน ชุมชนที่พบสูงสุด ได้แก่ ชุมชนบ้านพลงและชุมชนโสภณ พบ 52 ราย รองลงมาคือ ชุมชนมาบข่า 31 ราย และตลาดห้วยโป่ง 30 ราย รายที่พบสารเบนซีนสูงสุด พบสูงกว่าค่ามาตรฐาน 12 เท่าตัว ซึ่งกำหนดไม่เกิน 500 ไมโครกรัมต่อกรัมครีเอตินิน ส่วนสารโทโลอีน และสาร สไตรีน อยู่ในเกณฑ์ไม่เกินมาตรฐาน สำหรับสารเบนซีนนั้น หากสัมผัสซ้ำๆ เป็นเวลานานหลายๆ ปี อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งของเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย (Leukemia) ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 5 สถานี พบสารเบนซีนปนเปื้อนในบรรยากาศเกินมาตรฐานด้วย ซึ่งสารเบนซีนจะถูกขับออกทางปัสสาวะภายใน 48 ชั่วโมงและจะหมดไปประมาณ 1 สัปดาห์หากไม่ได้รับเพิ่มอีก โดยกระทรวงสาธารณสุขจะตรวจซ้ำในรายที่พบเกินมาตรฐานในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตามสารเบนซีนยังพบได้ในปั๊มน้ำมันต่างๆ โดยเฉพาะปั๊มหลอด และการเผาไหม้เครื่องยนต์ นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า ผลการตรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในแถบนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพสูงกว่าคนพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2551 - 2554 กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนเพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนในจังหวัดระยองอย่างต่อเนื่อง จะจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทุกเดือนๆ ละ 2 ครั้ง โดยในปี 2551 นี้ จัดงบประมาณ 253 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตรายประจำภาคตะวันออก ที่โรงพยาบาลระยอง และก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 12 ชั้น ยกระดับให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ รองรับผู้เจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ป่วยทั่วไป มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ประจำ 3-5 คน มีพยาบาลอาชีวเวชศาสตร์ 7-12 คน เพื่อให้มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากอุบัติภัยสารเคมี ซึ่งขณะนี้พบมารับบริการที่โรงพยาบาลระยอง เดือนละ 4-5 ราย และย้ายโรงพยาบาลมาบตาพุด ออกนอกเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนด้านอาชีว เวชศาสตร์ ดูแลโรคจากการประกอบอาชีพโดยเฉพาะ รวมทั้งจะส่งทีมสอบสวนโรคลงค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งทุกรายในจังหวัดระยองด้วย ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมลพิษที่ระยองในภาพรวม ทั้งการแก้ที่ต้นเหตุ การมีส่วนร่วมในสังคม และด้านสุขภาพ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตและกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฐ์ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนลดและขจัดมลพิษในพื้นที่ระยอง ในปี 2550-2554 วงเงิน 22,371 ล้านบาท รวม 64 โครงการ โดยใช้งบจากผู้ประกอบการ 19,745 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบจากภาครัฐ ******************** 15 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 15    15/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ