กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง ที่มีบาดแผล มีรอยถลอก รอยข่วนที่เท้า และเดินย่ำดินโคลน เดินลุยแช่น้ำท่วมขังนานๆ ให้ระวังโรคฉี่หนู ขณะนี้ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 1,860 ราย เสียชีวิต 23 ราย โดยเฉพาะหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ต้องระวังเป็นพิเศษ พบเชื้อสามารถผ่านรกทำให้ทารกตายในครรภ์ มีรายงานแล้ว 2 ราย นอกจากนั้นยังมีรายงานเด็กที่คลอดออกมา มีอาการป่วยเหมือนในผู้ใหญ่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ นอกจากเกิดอุบัติเหตุต่างๆ แล้ว โรคติดต่อที่ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้ฉี่หนู ไข้ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค และโรคไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์โรคดังกล่าวในรอบ 1-2 เดือนนี้ ยังไม่พบมีการระบาดในทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม มีเฉพาะการเจ็บป่วยทั่วๆ ไป เช่น โรคอุจาระร่วงจากการรับประทานอาหาร นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี โรคที่น่าห่วงและควรระวังในช่วงนี้ก็คือ โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส ซึ่งเป็นโรคของสัตว์โดยเฉพาะหนู สามารถติดต่อมาสู่คน เชื้อโรคไข้ฉี่หนู จะออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืช ผัก เชื้อนี้นอกจากจะสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ตามรอยแผลและรอยขีดข่วน และจากการรับประทานหารที่ปนเปื้อนเชื้อแล้ว ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มจากการที่แช่อยู่ในน้ำนานๆ ได้ ดังนั้นประชาชนที่เดินลุยน้ำท่วมขังนานๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคนี้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นรุนแรงได้ และมีรายงานในต่างประเทศว่าเชื้อโรคไข้ฉี่หนู เป็นอันตรายต่อหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเชื้อสามารถติดต่อจากแม่ไปทางรกทำให้ทารกตายในครรภ์ได้ ซึ่งเคยพบว่ามีรายงานแล้ว 2 ราย นอกจากนั้น ยังมีรายงานเด็กที่คลอดออกมา มีอาการป่วยเหมือนในผู้ใหญ่เช่นกัน จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2550 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยแล้ว 1,860 ราย เสียชีวิต 23 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยมากที่สุด 1,015 ราย เสียชีวิต 11 ราย รองลงมาคือภาคเหนือป่วย 406 ราย เสียชีวิต 4 ราย ภาคใต้ ป่วย 287 ราย เสียชีวิต 5 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เชื้อโรคไข้ฉี่หนู เป็นเชื้อแบคทีเรีย ตระกูลเลปโตสไปรา (Leptospira) ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคมี 6 สายพันธุ์ มีมากกว่า 230 ชนิด เชื้อมีรูปร่างเป็นแท่งเกลียวสว่าน เคลื่อนไหวได้รวดเร็วโดยการหมุนตัว เป็นเชื้อที่ชอบความชื้น มีระยะฟักตัวอยู่ในช่วง 4-19 วัน เฉลี่ยประมาณ 10 วัน เมื่อคนรับเชื้อเข้าไป ความรุนแรงอาการป่วยขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อ อาการที่พบได้บ่อยมากกว่าร้อยละ 80 คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง และตาแดง บางรายมีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุอวัยวะภายใน ทำให้ตับและไตวายเสียชีวิต บางรายอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้สับสน เพ้อ ซึม หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ หากประชาชนป่วยและมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำท่วมขัง หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อแพทย์จะได้ให้การักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันอาการแทรกซ้อนของโรคได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนมากเป็นผู้ป่วยที่มารับการรักษาช้า โดยมากมีอาการตั้งแต่ 4 วันขึ้นไป จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัว ตาเหลืองเป็นดีซ่าน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 15-40 ******************************** 9 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 9    09/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ