กองทุนโลก อุดหนุนงบช่วยกระทรวงสาธารณสุขไทย ควบคุมปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรค เป็นเงินกว่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 690 ล้านบาท ใช้ระยะเวลา 5 ปี เน้นเข้าถึงกลุ่มพนักงานในโรงงาน จำนวน 2 ล้านคน ในสถานประกอบการ 10,000 แห่ง ใน 76 จังหวัด ชี้ผลสำรวจล่าสุด เจ้าของสถานประกอบการร้อยละ 28 เห็นว่าโรคนี้กระทบต่อธุรกิจ หวั่นผู้ป่วยวัณโรคถูกรังเกียจ ทำให้ขาดยาและอาจเป็นแพร่เชื้อบานปลาย วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ เลขานุการคณะกรรมการกลไกความร่วมมือในประเทศ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และผู้แทนองค์การอนามัยโลก ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการวัณโรครอบที่ 6 ภายใต้โครงการกองทุนโลก” และเปิดนิทรรศการ “ความสำเร็จของโครงการกองทุนโลกในประเทศไทย” ที่ห้องประชุมโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า วัณโรคกำลังเป็นปัญหาระดับโลก องค์การอนามัยโลก รายงานว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 22 ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก จากรายงานสถานการณ์วัณโรค ปี 2549 ตรวจพบผู้ที่มีเชื้อวัณโรคในเสมหะ ซึ่งยังไม่แสดงอาการ จำนวน 28,349 คน หรือแสนละ 46 คน หากรวมกับผู้ป่วยแล้วจะทำให้ไทยมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดมากถึง 54,756 คน หรือแสนละ 88 คน ซึ่งปัญหาวัณโรคในไทยโยงใยกับปัญหาเอดส์ โดยพบว่าผู้ป่วยเอดส์ร้อยละ 15 ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย ขณะเดียวกันผู้ป่วยวัณโรคร้อยละ 30 ติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วย จึงต้องแก้ไขทั้ง 2 เรื่องพร้อมกัน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย (The Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria: GFATM) ในปี 2545 และได้รับอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณถึง ณ ปัจจุบัน ทั้งหมด 163.25 ล้าน เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 5,550 ล้านบาท ได้รับมาแล้ว 3,989 ล้านบาท แก้ไข 3 โรค คือ เอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค รวม 7 โครงการ ได้ดำเนินการแล้ว 6 โครงการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึง กันยายน 2550 ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในโครงการที่ 7 ได้รับงบประมาณ 19,626,999 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 690 ล้านบาท ซึ่งเน้นการควบคุมและป้องกันวัณโรคและโรคเอดส์ในสถานประกอบการ เนื่องจากวัณโรคเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารธุรกิจของสถานประกอบการไม่น้อยไปกว่าปัญหาโรคเอดส์ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจของคณะเศรษฐศาสตร์ระดับโลกเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ผู้บริหารสถานประกอบกิจการในประเทศไทยประมาณร้อยละ 28 เห็นว่าวัณโรคส่งผลกระทบต่อกิจการ ในขณะที่มีผู้บริหารเพียงร้อยละ 11 ที่เห็นว่าโรคเอดส์มีผลกระทบ หากผู้บริหารพนักงานในสถานประกอบการมีความเข้าใจเรื่อง วัณโรคไม่ถูกต้อง ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคอาจจะถูกรังเกียจและเลือกปฏิบัติ เช่นเดียวกับผู้ป่วยเอดส์ อาจถูกเลิกจ้างและทำให้พนักงานที่ป่วยต้องลาออกไป ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่สามารถติดตามผู้ป่วยได้ เกิดปัญหาขาดยาทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้เรื่อย ซึ่งขณะนี้อัตราการรักษาหายขาดของไทยมีไม่ถึงร้อยละ 80 จะทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นเรื่อยๆ ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการดำเนินการแก้ปัญหาวัณโรครอบที่ 6 มีการดำเนินการ 5 ปี ระหว่างพ.ศ. 2550- 2555 โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคในสถานประกอบการ 10,000 แห่ง ดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมควบคุมโรคกับมูลนิธิศุภนิมิต ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ในปีแรกจะเน้นการให้ความรู้พนักงานในเรื่องวัณโรคและโรคเอดส์จำนวน 400,000 คน ผู้บริหาร 2,000 คน สร้างแกนนำวัณโรค โรคเอดส์ ให้ได้ 1,400 คน โดยมุ่งหวังให้พนักงานไม่รังเกียจหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรค โดยผู้ป่วยวัณโรคทุกรายจะเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชน 40 แห่ง ใน 2 ปีแรก ที่พนักงานนั้นมีบัตรประกันสังคม และเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล เพื่อได้รับยาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ให้มีผลการรักษาหายขาดมากกว่าร้อยละ 85 มีการพัฒนาเครือข่ายการดูแลกำกับการรักษา (DOTS) ร่วมกับโรงพยาบาลภาครัฐ ที่จะเน้นพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการชันสูตรเชื้อวัณโรค และ การพัฒนางานควบคุมวัณโรคบริเวณจังหวัดชายแดนไทย-พม่า 6 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าว ได้แก่ ตาก ภูเก็ต ระนอง พังงา กาญจนบุรี ชุมพร **************************** 7 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 10    07/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ