“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 370 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลสร้างความเข้าใจประชาชนถึงอาการวิกฤตฉุกเฉินที่เข้าเกณฑ์ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” หากมีข้อสงสัยสอบถามที่ 028721669
ศาสตราจารย์คลินิค เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล “ฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP” ว่า โครงการนี้ช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งรัฐและเอกชน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยชีวิตโดยเร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2560 – 30 กันยายน 2560 มีจำนวนผู้ป่วยขอใช้สิทธิ 15,243 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 6,757 รายหรือประมาณร้อยละ 44 ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3,117 ราย ส่วนใหญ่เป็นสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ศาสตราจารย์คลินิค เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ในช่วงเริ่มโครงการพบว่า ประชาชนและสถานบริการ ยังมีปัญหาเรื่องเกณฑ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถใช้สิทธิ์นี้ ดังนั้น หากเจ็บป่วยฉุกเฉินขอให้แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นผู้ประเมินในเบื้องต้น และส่งเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ถ้าเข้าไปยังสถานพยาบาลของรัฐก็จะเข้าสู่กระบวนการกองทุนแบบเดิม เช่น ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิบัตรทอง แต่หากไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกคู่สัญญา จะใช้สิทธิ์ได้ในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินวิกฤติเท่านั้น ถ้าฉุกเฉินธรรมดา ฉุกเฉินไม่รุนแรง หรือแบบทั่วไปไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้
สำหรับอาการฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถเข้ารับสิทธิรักษาฟรี คือ 1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น ไม่มีชีพจร จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที 2.การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3.ระบบหายใจ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ 4.ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤติอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5.อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6. อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด หรือกำลังชักขณะแรกรับที่จุดคัดแยก
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและโรงพยาบาลทุกแห่ง ช่วยกันสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอาการวิกฤตฉุกเฉินที่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิ์ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิ UCEP สอบถามได้ที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โทร. 02 872 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
******************************************** 3 พฤศจิกายน 2560