กระทรวงสาธารณสุข เผย6 อาการฉุกเฉินวิกฤติ ที่ส่งผลต่อชีวิตและอวัยวะ ใช้สิทธิ UCEP ได้ อาทิ หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่รู้สึกตัว การรับรู้ สติเปลี่ยนไป  หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ  ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤต คือตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ อวัยวะฉีกขาดเสียเลือดมาก   เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น หากประชาชนหรือสถานพยาบาลมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ โทร 02-8721669 หรือ ucepcenter@niems.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง

      นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล ต้องการให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤตทุกคน ไม่ว่าสิทธิใดก็ตาม ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการให้น้อยที่สุด โดยไม่ต้องสำรองเงินค่ารักษาพยาบาลในระยะเบื้องต้น 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ตามโครงการนี้ หมายถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะ คุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันที เพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทําให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น รุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว

    โดยผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ตามโครงการนี้ ได้แก่ 1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่รู้สึกตัว 2.อาการทางสมอง มีการรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3.หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ 4.ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อ คือตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5.อวัยวะฉีกขาดเสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น

        ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการ 1 เมษายน 30สิงหาคม 2560 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 5,782  ราย จากผู้ขอใช้สิทธิทั้งหมด 12,710 ราย  มากที่สุดคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม  และกองทุนอื่นๆ

       “ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตดังกล่าว สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างรวดเร็ว อย่าให้เสียโอกาสในช่วงนาทีวิกฤตของชีวิต หากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง และหากประชาชนหรือสถานพยาบาลมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ โทร 02-8721669 หรือ ucepcenter@niems.go.th ตลอด 24 ชั่วโมงนายแพทย์โสภณกล่าว

  **********************************  10 กันยายน  2560

 

 

 

 

 

 

 



   
   


View 21    10/09/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ