กลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาสังคมระดับโลก ให้การชื่นชมรัฐบาลไทย ที่มุ่งมั่นประกาศทำซีแอลยา 3 ตัว เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยและทั้งโลก ประกาศพร้อมหนุนไทยทุกรูปแบบ และชื่นชมรัฐบาลอินเดีย ที่ไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิบัตรยารักษามะเร็งให้บริษัทยาโนวาติส เพราะไม่ใช่นวัตกรรมจริง
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า กลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาสังคมระดับโลก องค์กรเครือข่ายโลกที่ 3 (Third World Network) ประกอบด้วย องค์กรออกแฟม (oxfam) องค์กรเพื่อความปลอดภัยของเด็ก หรือเอสซีเอฟ (SCF) และองค์กรเอ็มเอสเอฟ (MSF) หรือองค์กรหมอไร้พรมแดน องค์กรเคอีไอ (KEI) และองค์กรเอกชนในประเทศเยอรมนี อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และบราซิล ได้ร่วมหารือกับคณะของประเทศไทย นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมีความสนใจการทำซีแอลของประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างของประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องของการจัดบริการให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้เข้าถึงยาที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ราคายาลดลงทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นด้วย
นายแพทย์มงคล กล่าวถึงประสบการณ์การทำซีแอล (Compulsory Licensing) ของประเทศไทย เพื่อประโยชน์สาธารณะในยา 3 ตัว ได้แก่ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir) + ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโรคเอดส์สูตรดื้อยาพื้นฐาน และยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ใช้ป้องกันลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โดยมีวัตถุประสงค์คือให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นทุกคน มิได้หวังผลทางการค้า ทำให้ประเทศชาติมีงบประมาณเพียงพอที่จะสามารถเพิ่มจำนวนประชาชนผู้รับยาได้มากขึ้น โดยมีบริษัทแอบบ็อตเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ที่ยังไม่มีข้อเสนออย่างเป็นทางการในการลดราคายา ที่ผ่านมาเสนอเพียงวาจา และไทยยังได้เล่าถึงการเข้าร่วมระบบการต่อรองราคายาต้านไวรัสเอดส์ร่วมกับมูลนิธิคลินตัน ที่สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้คนไทยได้เข้าถึงยาในราคาที่ลดลงมาก และรัฐบาลสามารถให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ยังมีชีวิตอยู่กว่าแสนคนได้ ทั้งสูตรยาปกติและสูตรดื้อยา
ถ้าบริษัทยาต้นแบบสามารถเสนอราคายาต่ำกว่าราคายาชื่อสามัญได้จริง ดังที่ได้ประกาศไว้ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำ ซีแอล เราคงไม่ทำซีแอลเพื่อซื้อยาชื่อสามัญที่ราคาแพงกว่ายาต้นแบบอย่างแน่นอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ได้รับทราบว่า ขณะนี้ประเทศอินเดียไม่จดสิทธิบัตรยารักษาโรคมะเร็งของบริษัทโนวาติส เนื่องจากไม่จัดอยู่ในประเภทของนวัตกรรม เพราะไม่ใช่ยาที่เพิ่งค้นพบหรือวิจัยใหม่ ยาดังกล่าวคือ ยากลีเวค ที่มีข่าวครึกโครมกรณีที่ประกันสังคมไม่ยอมจ่ายให้ การไม่จดทะเบียนยาดังกล่าว จึงเป็นความสำเร็จของการต่อสู้ของประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาร่วมกันที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ จะต้องอาศัยยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากประเทศอินเดียซึ่งไม่มีสิทธิบัตร และมีราคาถูกกว่าที่อื่นค่อนข้างมาก กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงยารักษามะเร็งได้มากขึ้น ถ้ามีการทำซีแอล ทั้งนี้ ในการหารือกัน กลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอระดับโลก ได้แสดงความชื่นชมความมุ่งมั่นในการประกาศใช้ ซีแอลของรัฐบาลไทย และพร้อมสนับสนุนประเทศไทยทุกรูปแบบ เพื่อให้การประกาศบรรลุผลอย่างสมบูรณ์ และเป็นแบบอย่างของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการดำเนินการเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยใช้ครั้งนี้
***************************** 14 พฤษภาคม 2550
View 8
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ