รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่ร้อยเอ็ด ย้ำหน่วยงานสาธารณสุข ในพื้นที่ ให้ความรู้ประชาชนป้องกันเจ็บป่วยจากโรคติดต่อในฤดูร้อน แนะล้างมือบ่อยๆ งดกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ชี้รอบ 3 เดือนนี้ พบผู้ป่วยโรคจากภัยแล้งเกือบ 3 แสนราย โดย 1 ใน 3 อยู่ในภาคอีสาน ทุกแห่งควบคุมโรคได้ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมมอบถุงยังชีพและยาตำราหลวงแก่ประชาชนจำนวน 150 ชุด ที่บ้านหาญไพรวัลย์ อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด เมื่อเช้าวันนี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 61 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 9 ล้านคน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบภัยแล้งทุกจังหวัด ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำไม่สะอาด ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์โรคที่มาพร้อมกับภัยแล้ง ซึ่งร้อยละ 90 เกิดจากอาหารและน้ำไม่สะอาด ในรอบ 3 เดือนปีนี้ ตั้งแต่มกราคม ถึงมีนาคม พบผู้ป่วยทั่วประเทศทั้งหมด 290,305 ราย เสียชีวิต 18 ราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ป่วย 265,480 ราย เสียชีวิต 18 ราย รองลงมาได้แก่โรคอาหารเป็นพิษ พบ 23,939 ราย โรคไทฟอยด์ 483 ราย โรคบิด 413 ราย ไม่มีเสียชีวิต ทุกพื้นที่ควบคุมโรคได้ ไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนวโน้มจำนวนการป่วยลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2549 โดยจำนวนผู้ป่วยในปีนี้น้อยกว่าถึง 9 หมื่นกว่าราย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้จะมีผู้ป่วยน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่ควรประมาท ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ออกหน่วยให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคที่มากับภัยแล้ง เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อต่างๆ จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ออกไปสอบสวนโรคในพื้นที่ทันทีที่ได้รับรายงาน และเฝ้าระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง สำหรับประชาชนขอให้ระมัดระวังในการกินอาหารเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม ซึ่งจะบูดเสียง่าย อาหารทะเล ส้มตำ ยำต่างๆ อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม รวมทั้งน้ำแข็ง ประชาชนควรล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนปรุงอาหาร หลังกินอาหารและใช้ห้องน้ำห้องส้วม “อยากเตือนพ่อค้าแม่ค้า ที่ขายอาหารตามสั่ง อย่าแช่เย็นอาหารดิบไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผักสด หรือน้ำดื่มบรรจุเสร็จ ในถังเดียวกับน้ำแข็งที่ใช้บริโภค เพราะเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารดิบเหล่านี้ จะปนเปื้อนในน้ำแข็ง ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ ซึ่งพบได้บ่อยมาก เนื่องจากในช่วงที่มีอากาศร้อน ประชาชนจะมีการบริโภคน้ำแข็งสูงกว่าปกติ 3-5 เท่าตัว” นายแพทย์มรกตกล่าว ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่าขณะนี้จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้งหมด 17 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ รวม 2,444 หมู่บ้าน ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลประชาชนเป็นประจำ และจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังสอบสวนโรคทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หากมีรายงานโรคระบาด จะมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงไปในพื้นที่ทันที รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ในการเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างเต็มที่ พร้อมสนับสนุนให้กับหน่วยงานที่ต้องการ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาดอันเนื่องมากจากภัยแล้งแต่อย่างใด เมษายน3/9 ************************* 11 เมษายน 2550


   
   


View 11    11/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ