คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ชี้กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้โครงสร้างการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย เป็นหน่วยงานถาวร จัดระบบริการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นชาวต่างประเทศมากขึ้น นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเที่ยงวันนี้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยประเด็นหลักของกฎหมายฉบับนี้จะสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นของระบบการช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน 4 เรื่องใหญ่ได้แก่ 1.การมีบุคลากรทางการแพทย์มืออาชีพให้บริการโดยตรง เพราะที่ผ่านมาผู้บาดเจ็บตกอยู่ภัยอันตราย เนื่องจากผู้ที่ทำการช่วยผู้ป่วยร้อยละ 85 คือญาติและผู้ประสบเหตุ โดยมีไม่ถึงร้อยละ 1 ที่ช่วยโดยบุคลากรทางการแพทย์ จึงทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตจากการเคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธีมากถึงร้อยละ 10 ประการที่ 2. มีองค์กรรับผิดชอบบริการนี้โดยตรงคือศูนย์นเรนทร มีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงทั้งยามปกติและภัยพิบัติ มีหมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินโดยตรงจากเดิมที่ใช้ 1669 ฟรี จะเหลือเลขแค่ 3 หลัก เหมือนสากล จำง่ายขึ้นใช้ร่วมทั้งไฟไหม้ ตำรวจ การเจ็บป่วย ประการที่ 3 . ขจัดปัญหาโรงพยาบาลปฏิเสธคนป่วยฉุกเฉินที่ประสบปัญหาบ่อยคือเตียงเต็ม ผู้ป่วยไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ประการสุดท้ายเพื่อจัดระบบอาสาสมัคร มูลนิธิที่ดำเนินการกู้ชีวิตต่างๆ เข้าสูระบบมาตรฐาน ให้บริการอย่างปลอดภัยเหมือนกันทั่วประเทศ นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นสาเหตุนำของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 เกือบทุกประเทศทั่วโลก จากการวิเคราะห์สถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินของคนไทยล่าสุดในปี 2547 มีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศปีละ 12 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินปีละประมาณ 4 ล้านครั้ง โดยทีผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งอุบัติเหตุ การป่วยจากโรคภัยต่างๆปีละ 60,000 คน สำหรับพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินฉบับนี้ เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่จะเติมเต็มระบบการแพทย์ของประเทศไทยให้สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนไทยรวมทั้งชาวต่างชาติด้วย ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดจะได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สาระในกฎหมายมี 8 หมวด โดยจะมีคณะกรรมการจัดระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินแห่งชาติ จัดตั้งสถาบันนเรนทรขึ้นเป็นทางการ ทำหน้าที่พัฒนาระบบบริการดังกล่าว ในระยะสั้นนี้จะจัดตั้งกองทุนรองรับ ครอบคลุมทั้งเรื่องบริการและการฝึกอบรมบุคลากรภาคบริการก่อน บริหารแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข มาจากเงิน 3 แหล่งได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 46 ล้านคน ตัดจ่ายหัวละ 10 บาท เงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 10 ล้านคน และกองทุนข้าราชการและครอบครัวประมาณ 6 ล้านคน คาดว่าในปีนี้ 2550 นี้ จะสามารถให้บริการช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินได้ 4 แสนครั้ง และจะค่อยๆเพิ่มขีดความสามารถและคาดว่าภายใน 8-10 ปี จะสามารถให้บริการเต็มรูปแบบคือไม่ต่ำกว่าปีละ 4 ล้านครั้ง ทั้งนี้ ขั้นตอนจากนี้ไปจะนำร่างพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา ************************* 10 เมษายน 2550


   
   


View 14    10/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ