กระทรวงสาธารณสุข ชี้หญิงตั้งครรภ์ไทยเสี่ยงคลอดลูกเป็นเอ๋อปีละ 400,000 คน เพราะกินเกลือที่ด้อยคุณภาพ มีไอโอดีนต่ำกว่ามาตรฐาน โดยผลสำรวจพบว่ามีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่ได้คุณภาพในบ้านเรือนเพียงร้อยละ 54 ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึงเกือบร้อยละ 40 เร่งแก้ไขที่ผู้ประกอบการ
เช้าวันนี้ (10 เมษายน 2550 ) ที่โรงแรมชลจันทร์ พัทยารีสอร์ท จังหวัดชลบุรี นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดประชุมผู้ประกอบการจากชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและศูนย์อนามัยกว่า 100 คน เพื่อพัฒนาศักยภาพชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนในประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การควบคุมคุณภาพและการกระจายเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ สู่ประชาชนกว่า 12 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ไอโอดีนเป็นสารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองของเด็กทำให้เด็กมีไอคิวหรือสติปัญญาดี หากแม่ขาดสารไอโอดีนระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้ลูกปัญญาอ่อน ซึ่งเราสามารถเห็นอาการชัดเจนได้ประมาณร้อยละ 1-10 ของเด็กที่เป็นเท่านั้น อีกร้อยละ 5-30 จะเกิดปัญญาทึบ ที่เหลืออีกร้อยละ 70 จะออกมาในรูปของการเฉื่อยชา เกียจคร้าน อ่อนแรง จากการสำรวจการใช้เกลือครั้งล่าสุดในปี 2549 พบมีครัวเรือนเพียงร้อยละ 59 ใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหาร ในจำนวนนี้ใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพคือ มีสารไอโอดีนในปริมาณกำหนดคือ 30 ส่วนในเกลือ 1 ล้านส่วนหรือ 30 พีพีเอ็ม (30 ppm) เพียงร้อยละ 54 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์ไทยร้อยละ 50 หรือประมาณ 4 แสนคน ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ เสี่ยงคลอดลูกเป็นเอ๋อ หรือปัญญาอ่อน
ขณะนี้ค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิวเด็กสากลกำหนดไว้คือ 90-110 จุด แต่ไอคิวของเด็กไทยประเมินในรอบ 5 ปีมานี้ได้แค่ 88 จุด ในขณะไอคิวเด็กในประเทศในกลุ่มตะวันออกไกลมี 104 จุด ที่ยุโรปอเมริกาเหนือ 98 จุด จึงน่าห่วงมาก หากดูในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดไอโอดีนแล้ว ประเทศไทยจะมีเด็กคลอดใหม่เสี่ยงต่อการมีสติปัญญาด้อยหรือไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 400,000 คน นาย
แพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าว นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่เกลือเสริมไอโอดีนยังไม่ได้คุณภาพ มีต้นตอมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ การผลิตเกลือ ซึ่งมีผู้ผลิตเกลือทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและรายย่อยจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตเกลือเสริมไอโอดีนที่ลงทะเบียนกว่า 200 รายเท่านั้น เกลือที่ใช้มีทั้งเกลือที่ผลิตมาจากน้ำเค็มซึ่งมีไอโอดีนแต่ไม่เพียงพอ และเกลือสินเธาว์ในภาคเหนือและอีสานซึ่งไม่มีสารไอโอดีน จะต้องเติมสารโปแตสเซี่ยมไอโอเดท ที่มีราคาค่อนข้างสูงและต้องซื้อจากต่างประเทศทีละจำนวนมากๆเท่านั้น จึงทำให้ไม่สะดวกในการที่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อยๆจะจัดหาสารโปแตสเซียมไอโอเดทมาใช้เอง ประการที่ 2 เกิดจากการเก็บรักษาเกลือ มักเก็บเกลือไม่ถูกต้อง เช่น วางตากแดด ใส่รถเร่ขาย ทำให้คุณภาพเสื่อมลงเพราะสารไอโอดีนจะไม่ทนแสง ประการที่ 3 คือประชาชนยังไม่ตระหนักในการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อให้เกลือเสริมไอโอดีนมีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ดังนั้นหากแม่บ้านจะซื้อเกลือทุกครั้ง ขอให้มั่นใจว่าเป็นเกลือเสริมไอโอดีนโดยดูที่สลากที่เขียนไว้บนหน้าซองว่ามีส่วนผสมของสารไอโอดีนเท่านั้น นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
เมษายน 3/5 ***** ************** 10 เมษายน 2550
View 12
10/04/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ