กระทรวงสาธารณสุข แจงเหตุการณ์เสียชีวิตของนางอนงค์ ที่เสียชีวิตระหว่างคลอดที่โรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย ผลการผ่าศพชันสูตรพบเกิดจากน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือด เป็นภาวะแทรกซ้อนของการคลอดที่รุนแรงมาก พบได้ 1ใน 80,000 ของการคลอด โอกาสรอดชีวิตน้อยมาก ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเตรียมการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
จากกรณีที่มีข่าวทางสื่อมวลชนว่า หญิงตั้งครรภ์ชื่อนางอนงค์ คงปารีย์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27/1 หมู่ 5 บ้านห้วยน้ำราก อ.แม่จัน จ.เชียงราย ไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย เมื่อคืนวันที่ 5 เมษายน 2550 แต่ต่อมาเสียชีวิต โดยสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว ญาติคิดว่าเกิดจากความผิดพลาดของแพทย์ นั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 1 ชุด เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย โดยหลังจากนางอนงค์เสียชีวิต ได้ส่งศพไปตรวจชันสูตรเพื่อยืนยันสาเหตุการตายที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งได้รับแจ้งยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากน้ำคร่ำอุดตันเส้นเลือด ( Amniotic Fluid Embolism)
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในเส้นเลือด จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการคลอด พบได้ 1 ใน 80,000 ของการคลอด เป็นอาการแทรกซ้อนที่มีอันตรายรุนแรงมาก มีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก โดยเกิดจาก ถุงน้ำคร่ำที่หุ้มตัวทารกขณะที่อยู่ในครรภ์เกิดแตกออกในช่วงที่มารดาเริ่มเจ็บท้อง หรือช่วงคลอด ทำให้น้ำคร่ำรวมทั้งชิ้นส่วนของทารกเกิดหลุดเข้าไปตามรูแตกบนเส้นเลือดที่ตัวมดลูก ไปอุดอยู่ตามเส้นเลือดเล็กๆ ของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย และที่สำคัญที่สุด คือ ปอด ทำให้เกิดการอุดตันและหดเกร็งของเส้นเลือดในปอด ร่างกายจึงขาดอากาศ และทำให้หัวใจล้มเหลวตามมา เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปุบปับ คาดไม่ถึง และเสียชีวิตในที่สุด ส่วนทารกจะเสียชีวิตตามมารดาเพราะขาดออกซิเจน
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีใดที่แน่นอนที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ แต่ผู้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าคนท้องทั่วไปคือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก มีบุตรหลายคน อ้วน มีบุตรตัวโต ถึงแม้ว่าภาวะแทรกซ้อนหลายๆ อย่าง ที่อาจเกิดขึ้นในคนท้อง ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้แม่เสียชีวิตได้นั้น อาจจะป้องกันไม่ได้ก็ตาม แต่การฝากท้องแต่เนิ่นๆ และฝากอย่างสม่ำเสมอที่สถานบริการสาธารณสุข ก็ยังเป็นสิ่งที่คนท้องควรปฏิบัติ เพราะจะเกิดประโยชน์อย่างมาก ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาที่จะเกิดจากโรคบางอย่างที่แม่มีอยู่ และแพทย์จะได้มีโอกาสคัดกรองโรคบางอย่าง หรือจะได้ป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น เช่น ซีด เพื่อที่แม่และลูกจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง นายแพทย์สุพรรณกล่าว
ทางด้านนายแพทย์เทพนฤมิตร เมธนาวิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขเชียงราย ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาตรวจสอบข้อเท็จจริง 1 ชุด เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะชี้แจงทำความเข้าใจสาเหตุการเสียชีวิตกับญาติ ขณะเดียวกันจะนำผลการตรวจสอบดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น บรรเทาความเดือดร้อน กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ โดยเร็ว
******************************* 9 เมษายน 2550
View 14
09/04/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ