กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนระวังภัยลูกโป่งสวรรค์ เพราะที่ขายกันในขณะนี้ส่วนใหญ่ อัดก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งมีราคาถูก แต่มีอันตราย เพราะติดไฟง่าย ห้ามเล่นกลางแดด ใกล้หลอดไฟหรือกองไฟ และอย่าซื้อหลายๆลูกรวมกันให้เด็กเล่น เนื่องจากหากมีการระเบิดขึ้น จะทำให้เกิดการระเบิดต่อเนื่องเพราะปริมาณก๊าซมาก นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีลูกโป่งสวรรค์เกิดระเบิดข้างเวทีมวยชั่วคราวที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อเย็นวานนี้ ทำให้ประชาชนที่กำลังดูมวย ถูกไฟลวกตามร่างกาย ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากลูกโป่งระเบิดที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสระบุรีวานนี้จำนวน 13 ราย ล่าสุดในเที่ยงวันนี้ ทุกรายอาการดีขึ้น ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้ทั้งหมดแล้ว ส่วนใหญ่จะถูกเปลวไฟไหม้ที่ผิวหนัง สามารถไปดูแลรักษาต่อที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ ส่วนที่โรงพยาบาลแก่งคอยยังมีผู้บาดเจ็บรักษาอยู่ 5 ราย ได้แก่ นายอนันต์ อบกลาง นายมานิตย์ พิมพ์จักษ์ นายสมหมาย เทียนแดง นายบรรทม เพ็งเขียว และนางสังวาลย์ กะลิมพันธ์ ทุกรายผิวหนังไหม้ ลึกถึงใต้ผิวหนัง แพทย์ให้การดูแลเต็มที่ ที่สำคัญในระยะนี้ก็คือการป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 3-4 วันจะสามารถกลับบ้านได้เช่นกัน นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้ทุกคนมีความระมัดระวังโดยเฉพาะ เด็กๆ ที่ชอบเล่นลูกโป่งสวรรค์ เพราะมีสีสันสดใส เป็นที่ถูกใจ การใช้ลูกโป่งไม่ควรประมาท เนื่องจากลูกโป่งสวรรค์ที่ขายอยู่ทั่วไป จะอัดด้วยแก๊สไฮโดรเจน ซึ่งมีคุณสมบัติเบา ทำให้ลูกโป่งลอยตัว แต่ก๊าซดังกล่าวติดไฟง่าย และเกิดการระเบิดได้ง่ายหากอยู่ใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ แต่ก๊าซดังกล่าวมีราคาถูก ผู้ขายจึงนิยมใช้ นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ตามปกติหากพ่อแม่ซื้อลูกโป่งบรรจุก๊าซไฮโดรเจนให้เด็กเล่นเพียง 1 ลูก ก็จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ยกเว้นลูกโป่งระเบิดแตกใกล้ ๆ หู เยื่อแก้วหูอาจจะทะลุ ทำให้หูตึงได้ ไม่ควรซื้อให้หลาย ๆ ลูกพร้อม ๆ กัน เพราะอันตรายจะมีมาก เมื่อนำลูกโป่งหลายลูกมารวมกันเป็นพวงใหญ่ เนื่องจากปริมาณก๊าซมาก เมื่อเกิดการระเบิด 1 ลูก ก็จะระเบิดติดต่อกัน ทำให้มีความร้อนและเปลวไฟลวกผิวหนังได้ ทางด้านนายแพทย์กำจัด รามกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง การจัดกิจกรรมต่าง ๆ มักนิยมใช้ลูกโป่งในการตกแต่งให้สวยงาม ลูกโป่งที่ใช้ในประเทศไทย จะนิยมใช้ก๊าซ 2 ตัวคือก๊าซฮีเลียมและก๊าซไฮโดรเจน กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ลูกโป่งที่บรรจุด้วยก๊าซฮีเลียม เพราะเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่มีปัญหาระเบิด และไม่ติดไฟ แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าลูกโป่งที่บรรจุด้วยก๊าซไฮโดรเจนประมาณ 3 เท่าตัวก็ตาม เพราะสภาพอากาศในเดือนเมษายนจะร้อนมากอยู่แล้ว แต่หากประชาชนจำเป็นต้องใช้ลูกโป่งบรรจุก๊าซไฮโดรเจน ผู้ขายจะต้องแนะนำการใช้แก่ลูกค้า และในการใช้ลูกโป่งที่บรรจุก๊าซดังกล่าวต้องไม่นำมาผูกรวมกันเป็นพวงใหญ่ ควรเก็บไว้ในที่ร่ม และที่สำคัญที่สุดคือต้องอยู่ห่างจากดวงไฟ ประกายไฟต่าง ๆ และห้ามไม่ให้จุดไฟใกล้กลุ่มลูกโป่งเด็ดขาด ******************************* 7 เมษายน 2550


   
   


View 12    07/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ