โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยขมิ้นชันของไทย มีสรรพคุณรักษาโรคระบบทางเดินอาหารและทำเครื่องสำอางป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่การเก็บ-การแปรรูปต้องทำให้ได้มาตรฐาน อย่าให้ถูกแสงแดด ความชื้น ควรเก็บผงขมิ้นใส่ขวดทึบแสง ไม่ควรใส่ถุงพลาสติกรัดปาก เพราะจะทำให้สารเคอร์คูมินอยด์ และน้ำมันหอมระเหย ในขมิ้นเสื่อมคุณภาพได้ และหากเก็บนาน 2ปี จะทำให้น้ำมันหอมระเหยลดลงร้อยละ 25 นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่คนไทยและคนในทวีปเอเชียอีกหลายประเทศ นำมาใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหาร ยา และเครื่องสำอาง จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและมีแนวโน้มนิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าในขมิ้นชัน มีสาระสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์อยู่ 2 กลุ่มได้แก่ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ ( Curcuminoids) มีฤทธิ์ทางยาหลายอย่าง เช่น ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับลม ฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดีช่วยย่อยอาหาร ต้านอนุมูลอิสระป้องกันโรคมะเร็งเป็นที่ยอมรับองค์การอนามัยโลก ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาเป็นตำรับยาบรรจุในแคปซูลกินรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และนำเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยมาตรฐานตัวยาในขมิ้นชันแคปซูลที่กำหนดคือ ต้องมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 มีสารเคอร์คูมินอยด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และมีปริมาณความชื้นไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งยาดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานและขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ตามในการแปรรูปขมิ้นชันจากเหง้าดิบมาเป็นผงไม่ว่าจะใช้เพื่อเป็นยาหรือเป็นเครื่องสำอางประทินผิว ประชาชนสามารถดำเนินการได้เอง แต่จะต้องระมัดระมัดระวัง ตั้งแต่อายุของขมิ้นชัน การแปรรูป การเก็บรักษา เพราะหากไม่ถูกต้อง จะทำให้ได้สาระสำคัญในขมิ้น น้อยหรือเสื่อมคุณภาพได้ง่าย สรรพคุณในการใช้งานก็จะลดลง โดยเฉพาะผงขมิ้นบรรจุถุงพลาสติกที่วางขายตามข้างทางตามแผงลอยต่างๆมีโอกาสเสื่อมคุณภาพได้ง่าย แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ เลขามูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา และสาธารณสุขนิเทศก์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขมิ้นชันจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่อยู่กับครอบครัวคนไทยมาช้านาน การกินสมัยก่อนนิยมปั้นเป็นยาลูกกลอน จากการวิจัยพบว่าในประเทศไทยมีขมิ้นชันมากถึง 34 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ดีที่สุดตามผลการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่าสายพันธุ์แดงสยาม พบว่ามีสารเคอร์คูมินอยด์ถึงร้อยละ 10-12 ทั้งนี้เหง้าขมิ้นที่จะนำมาใช้งาน ที่ดีที่สุดควรมีอายุ 7-9 เดือน เพราะเหง้าจะสมบูรณ์เต็มที่ การแปรรูปที่ใช้กันส่วนมากจะใช้วิธีฝานเป็นชื้นบางๆแล้วนำมาอบหรือตากแห้ง หลังจากที่ป่นเป็นผงขมิ้นแล้ว จะต้องเก็บรักษาในภาชนะที่ปิดสนิท แห้ง และระวังไม่ให้ถูกแสงแดด ความร้อน หรือความชื้น เนื่องจากจะทำให้สารเคอร์คูมินอยด์และนำมันหอมระเหยในขมิ้น สลายตัวเร็วขึ้น แนะนำว่าให้ใช้ผงขมิ้นที่แปรรูปใหม่ๆจะดีที่สุด เนื่องจาก หากผงขมิ้นยิ่งมีอายุนาน น้ำมันหอมระเหยจะลดลงเรื่อยๆ เช่นหากเก็บนาน 2 ปี น้ำมันหอมละเหยจะลดลงถึงร้อยละ 25 ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชน หากจะแปรรูปขมิ้นชันเป็นขมิ้นชันผง เพื่อไว้ใช้เองในครัวเรือนหรือเพื่อจำหน่าย ขอให้เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท อากาศเข้าไม่ได้ เช่นขวดทึบแสง มีฝาปิดสนิทไม่ให้อากาศเข้าได้ อย่าให้ถูกแดด ควรวางในที่ร่ม ไม่ควรเก็บผงขมิ้นชันในถุงพลาสติกที่รัดปากถุงด้วยยางทั่วไป เนื่องจากไม่สามารถป้องกันไอน้ำได้ และจะทำให้ผงขมิ้นมีความชื้น เกิดเชื้อราได้ง่าย ********************************************* 6 เมษายน 2550


   
   


View 11    06/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ