รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสถานพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เตรียมความพร้อมแพทย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ พยาบาล และหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน เกือบ 30,000 คน รับมืออุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ออกให้บริการหลังรับแจ้งทางสายด่วน 1669 ภายใน 10 นาที และสุ่มสำรวจการขายเหล้าในสถานที่และเวลาห้ามขาย พร้อมเตือนผู้ปกครองให้ดูแลลูก หลาน เนื่องจากเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำในเทศกาลนี้สูงกว่าช่วงปกติ 2 เท่าตัว วันนี้ (5 เมษายน 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุจราจรในเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2550 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมความพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง โดยเน้น 2 เรื่องใหญ่ ประการแรก ได้แก่ การรักษาพยาบาล โดยเปิดโทรศัพท์สายตรง รับแจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์กรณีพบผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ทางหมายเลข 1669 ฟรี ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้เปิดไว้ 5 – 10 คู่สาย เพื่อให้ประชาชนโทรติดง่าย ไม่ต้องรอนาน และจัดส่งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินที่มีจำนวนกว่า 4,000 ทีม มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รวม 29,978 คน พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน ออกบริการปฐมพยาบาลและนำผู้บาดเจ็บส่งห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล ภายใน 10 นาทีในเขตเทศบาล และไม่เกิน 20นาทีในเขตชนบท ให้ได้ร้อยละ 75 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ขณะเดียวกัน ให้โรงพยาบาลทุกแห่งที่มีกว่า 800 แห่งทั่วประเทศทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพิ่มกำลังแพทย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ พยาบาลอีก 2 เท่าตัว เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน คลังเลือด ห้องผ่าตัด และสำรองเตียงผู้ป่วยเพิ่มจากปกติอีก 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ เตรียมการระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ในปีนี้ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บหลังนำส่งถึงมือแพทย์ในห้องฉุกเฉินและหลังนอนรักษาในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ลงจากร้อยละ 3 ในเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เหลือไม่เกินร้อยละ 2 ทั้งนี้ จากการปฏิบัติงานช่วงเทศกาลปีใหม่ 2550 ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 – 3 มกราคม 2550 หน่วยกู้ชีพออกปฏิบัติการทั้งหมด 10,177 ครั้ง รวมผู้ป่วยทั้งหมด 10,455 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 เป็นอุบัติเหตุจราจรจำนวน 5,256 ราย โดยพบว่าผู้บาดเจ็บเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือร้อยละ 62 และเสียชีวิตระหว่างนำส่งไปโรงพยาบาลและระหว่างส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นร้อยละ 8 ประการที่ 2 ได้แก่ การป้องกันและลดอุบัติเหตุ ได้ให้กำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งร่วมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางของศูนย์อำนวยความความปลอดภัยทางถนน โดยให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ สุ่มสำรวจการขายเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ โดยเน้นตรวจในสถานที่ห้ามขายได้แก่ปั๊มน้ำมัน สถานศึกษา ศาสนสถาน และขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ 11.00 น. – 14.00 น.และ 17.00 น. – 24.00 น. ตลอดช่วงวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่ามีการฝ่าฝืนทั้งสถานที่และมีการขายในเวลาห้าม เกือบร้อยละ 20 เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงสงกรานต์ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร เป็นผู้โดยสารรถกระบะและรถตู้เพิ่มสูงกว่าในช่วงปกติและช่วงเทศกาลปีใหม่เกือบ 2 เท่า และดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าช่วงปกติ จากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 52 ที่น่าเป็นห่วงก็คือมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้รับบาดเจ็บรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 คน เกือบร้อยละ 6 มีอาการสาหัสเนื่องจากบาดเจ็บที่สมอง โดยพบว่า 1 ใน 4 ของเด็กที่บาดเจ็บรุนแรงขับขี่จักรยานยนต์ และ 1 ใน 8 ของเด็กที่บาดเจ็บจากการขับขี่จักรยานยนต์มีการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 13 อุบัติเหตุที่น่าห่วงและมักเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็คือ การตกน้ำ จมน้ำ จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2549 พบว่า เด็กอายุ 1 – 15 ปี จมน้ำตายสูงกว่าช่วงปกติถึงกว่า 2 เท่าตัว และสูงกว่าตายจากอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่าตัว คาดว่าในช่วง 7 วันอันตรายน่าจะมีเด็กตายจากการจมน้ำกว่า 50 คน โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะตายจากการจมน้ำในอ่างน้ำ ถังน้ำ ห้องน้ำ กะละมังภายในบ้าน แม้ระดับน้ำสูงเพียง 1 – 2 นิ้วก็ทำให้จมน้ำตายได้ ส่วนเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป ส่วนใหญ่จะจมน้ำในแหล่งน้ำใกล้บ้าน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กอายุเพียง 14 ปีที่เมาเหล้าและจมน้ำตายด้วย จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยกันดูแลระมัดระวัง ในการปล่อยเด็กไปเล่นน้ำสงกรานต์ ทั้งใกล้บ้าน หรือสถานที่ท่องเที่ยว เช่น แม่น้ำ น้ำตก ชายทะเล รวมทั้งการโดยสารรถกระบะไปเล่นสาดน้ำสงกรานต์ และการขับขี่จักรยานยนต์ โดยเฉพาะในถนนสายรองตามหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดอุบัติเหตุจราจรสูงถึงร้อยละ 66 ****************************** 4 เมษายน 2550


   
   


View 12    05/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ