รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้สภาพอากาศร้อนจัดจากโลกร้อน เสี่ยงโรค “ฮีทสโตรก” หรือโรค ลมแดด ซึ่งอันตรายมาก โอกาสเสียชีวิตสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดวดเหล้าจัด รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แนะประชาชนต้องดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อป้องกัน นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้โลกอยู่ในสภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนจัดกว่าทุกปี มีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหลายโรค ที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นในขณะนี้คือ โรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดบ่อยที่สุด แต่โรคที่ยังมีการพูดถึงกันน้อยมากในประเทศไทยคือ โรคลมแดด ซึ่งเกิดในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีประชาชนเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ ปีละประมาณ 371 คน ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานใครเสียชีวิต ทั้งนี้ อาการผิดปกติที่เกิดจากความร้อนมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่เป็นอันตราย ที่รู้จักได้แก่ เป็นลม มีอาการหน้ามืด เป็นตะคริว หมดแรงจากความร้อน ซึ่งอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนด้วย และที่อันตรายที่สุดคือการเป็นลมแดด หรือที่การแพทย์เรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat stroke) เป็นภาวะวิกฤติของร่างกาย จะไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ นายแพทย์มงคลกล่าวว่า โรคลมแดดนี้ เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังหรือเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน อาจจะเกิดขึ้นได้แม้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง เป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70 เปอร์เซ็นต์ อาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อนจัด เพ้อหรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดลง ช็อค ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว หมดสติ เกร็ง ชัก โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อน จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ สัญญาณสำคัญของโรคนี้คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นจะกระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียแดดหรือเป็นลมแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย เมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้ นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าร่ม ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเลย เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามากๆ ด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอันตรายจากอากาศร้อนจัด ได้แก่ การขาดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศร้อน ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงร่างกายขาดน้ำได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ ส่วนผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ ร่างกายจะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม เพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย สำหรับคนอ้วนที่มีความเสี่ยงนั้น เนื่องจากจะมีไขมันที่ผิวหนัง ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฉนวนกันความร้อน ทำให้คนอ้วนสามารถเก็บความร้อนได้ดี ขณะที่การระบายความร้อนออกทำได้น้อยกว่าคนทั่วๆ ไป นอกจากนี้บริเวณผิวหนังที่มีไขมันมากมักมีต่อมเหงื่อน้อยลงด้วย คนอ้วนจึงมีโอกาสเกิดปัญหาได้ง่าย นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อไปว่า การปรับสภาพร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายในช่วงที่มีอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยปกติควรดื่มน้ำให้ได้ 2 ลิตรต่อวัน หากทำงานในที่ร่มควรดื่มอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่ ให้สังเกตจากสีของปัสสาวะ ถ้าสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเข้มขึ้น และปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ ส่วนการออกกำลังกายสามารถกระทำได้ โดยค่อยๆ ออกกำลังกาย และเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกายขึ้นเรื่อยๆ ********************** 4 เมษายน 2550


   
   


View 13    04/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ