และลดการตีตราเลือกปฏิบัติ สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์
กระทรวงสาธารณสุข จับมือสภากาชาดไทย และกรุงเทพมหานคร เดินหน้ารณรงค์เรื่องโรคเอดส์    สู่นโยบายที่เป็นศูนย์ (Getting to Zero)” พ.ศ.2555-2559 ตามนโยบายของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ที่ตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5ปี  ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่  ไม่มีการตายเนื่องจากเอดส์และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ
วันนี้ (9 มกราคม 2555) ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์วิชัย  เทียนถาวร  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขเปิดการเสวนาเรื่อง ภาพรวมสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์(Overview of Getting to Zero) จัดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ที่ทำงานด้านโรคเอดส์ร่วมแสดงข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน นำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งการเสวนาจะจัดขึ้น 4 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้ที่ทำงานด้านเอดส์ทั้งภาครัฐบาล เอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ สื่อมวลชน ผู้กำกับนโยบายด้านเอดส์ นักกฎหมาย และประชาชนผู้ที่สนใจทั่วไป
นายแพทย์วิชัย กล่าวว่า ในประเทศไทย ปี 2554 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 1,148,117 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 481,770 ราย มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 10,097 ราย และจากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 15พฤศจิกายน 2554พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง30-34 ปี ร้อยละ 25 รองลงมาอายุ 25-29ปี ร้อยละ 22 ทั้งนี้ พบว่าแนวโน้มของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ลดลงกว่าในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายแพทย์วิชัยกล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 มีความท้าทายที่สำคัญ 3ประการ ดังนี้ ประการแรก คือ  ลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 2 ใน 3 จากตัวเลขที่มีการคาดประมาณไว้ หรือ6,731รายในปี 2559  จึงมีมาตรการเร่งรัดบูรณาการ การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่ เช่น โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความรู้ ความตระหนักเรื่องเอดส์ และส่งเสริมการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว  โครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยด้วยการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อถุงยางอนามัย เป็นต้น  
ประการที่สอง คือ ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ มีการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ระดับชาติ ปี 2553 โดยปรับเกณฑ์การเริ่มให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้น จากระดับภูมิคุ้มกันน้อยกว่า 200เซลต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เป็นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 350 เซลต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ให้บริการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีปีละ 2ครั้ง ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับคนไทยครอบคลุมทุกสิทธิทั้ง สปสช. ประกันสังคมและข้าราชการ เป็นต้น                       
และประการสุดท้าย คือ ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ มีการสร้างเสริมการรับรู้  ทัศนคติใหม่ที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ดี ไม่แบ่งแยกกีดกัน เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีเชื้อเอชไอวี  มีความเคารพในความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศภาวะ เพศวิถี วัย เชื้อชาติ ความเชื่อในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบายส่วนที่เป็นอุปสรรคเพื่อลดการตีตราและขจัดการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ให้คนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้สามารถป้องกันและดูแลตนเอง รวมทั้งใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการรณรงค์ สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ตามนโยบายของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ศูนย์ตัวที่ 1 คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่(Zero New HIV Infections) ตัวที่ 2 ไม่มีผู้เสียชีวิตเนื่องมาจากเอดส์(Zero AIDS Related Deaths) และตัวที่3คือไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination) ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 จำนวน 8ข้อ ดังนี้  ข้อที่ 1 จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลง 2 ใน 3 จากที่คาดประมาณ  ข้อที่ 2 อัตราการติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิดน้อยกว่าร้อยละ 2 ข้อที่ 3 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองทางสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
ข้อที่ 4 จำนวนผู้เสียชีวิตจากเอดส์ลดลงมากกว่าร้อยละ 50ข้อที่ 5 จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ข้อที่ 6 กฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการเชิงป้องกัน การรักษา การดูแล และบริการรัฐสาธารณะอื่นได้รับการแก้ไข ข้อที่ 7 การทำงานเอดส์ทุกด้านมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และสนองตอบต่อความจำเพาะกับเพศสภาวะ และข้อที่ 8 จำนวนการถูกเลือกปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มประชากรเป้าหมายหลักลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50โดยกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุในปี 2559                                                                      
     ***********************       9 มกราคม 2555


   
   


View 12       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ