รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รุดตามเรื่องหน่วยกู้ชีพสมุทรปราการ ถูกปืนขู่แย่งผู้ป่วยอาการวิกฤตส่งโรงพยาบาล ระหว่างใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิต เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินคุ้มครอง ความปลอดภัยผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
บ่ายวันนี้ (27 มีนาคม 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามการให้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ภายหลังเกิดเหตุพยาบาลวิชาชีพ 5 ซึ่งเป็นทีมกู้ชีพฉุกเฉินประจำโรงพยาบาลสมุทรปราการและอาสาสมัครกู้ชีพ ถูกอาสาสมัครกู้ภัยเอกชนทำร้ายร่างกาย ระหว่างทำการใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เมื่อคืนวันที่ 26 มีนาคม 2550 เวลาประมาณ 02.00 น.
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนระบบการบริหารจัดการเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย ว่า จะต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นนาทีวิกฤตของชีวิต ต้องได้รับ การช่วยเหลือโดยบุคลากรที่มีความรู้ พร้อมเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีหน่วยกู้ชีพเอกชน หรืออาสาสมัครกู้ภัยจำนวนมาก ที่ทำเรื่องเดียวกันกับหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินของโรงพยาบาล คือช่วยเหลือผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บ และนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน โดยอบรมอาสาสมัครกู้ภัยภาคเอกชนต่างๆ ให้มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และเป็นเครือข่ายในการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กู้ชีพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำเนินการได้แล้วประมาณร้อยละ 80 ที่เหลือจะต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมจัดระบบหน่วยอาสาสมัครกู้ภัยเอกชน ไม่ให้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือแย่งผู้ป่วย จนทำให้เกิดผลเสียต่อชีวิต โดยได้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีบทบัญญัติในเรื่อง การจัดระบบบริการผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินผ่านหน่วยงานที่มีคุณภาพ บุคลากรที่ ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข การสอบขึ้นทะเบียนหน่วยงานและบุคลากร การจัดอุปกรณ์การแพทย์ประจำรถพยาบาลที่ได้มาตรฐาน รวมถึงบทลงโทษสถานพยาบาลที่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะวิกฤตและเร่งด่วน เพื่อให้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของไทยเป็นบริการแบบมืออาชีพ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะนำเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ในวันที่ 4 เมษายน 2550 และจะเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 10 เมษายน 2550 โดยจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ให้ทันในรัฐบาลชุดนี้
ผลของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตทุกประเภท ไม่ถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลทุกแห่ง ทุกสังกัด จะมีขั้นตอน วิธีปฏิบัติ ให้อาสาสมัครทั่วประเทศ ซึ่งทำดีเป็นส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาและพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นบุคลากรที่ถูกกฎหมาย และผู้ป่วยทุกรายที่โทรแจ้งขอความช่วยเหลือ จะได้รับการกลั่นกรองว่าจะต้องใช้บุคลากรประเภทใด เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดยเจ้าหน้าที่กู้ชีพทุกคนจะต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ พยาบาล ประจำศูนย์สั่งการ ซึ่งมีทุกจังหวัดก่อนออกปฏิบัติการ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม สั่งยานพาหนะทุกคันให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุมีอุบัติการณ์สูงขึ้นตลอดเวลา จากรายงานสถานการณ์สุขภาพประเทศไทย อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของระบบสาธารณสุข เฉพาะในส่วนของ อุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่า เกิดขึ้นเฉลี่ย 75,000 ครั้งต่อปี มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 13,000 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าปีละ 9 แสนราย
*************************** 27 มีนาคม 2550
View 12
27/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ