รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ชี้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กที่ขึ้นเป็นดอกเห็ด กลายเป็นบ้านที่ 2 ของเด็กที่พ่อแม่ต้องทำงานประจำ ต้องมีมาตรฐานครบทุกด้าน ทั้งสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็กจะต้องเป็นมืออาชีพ ผ่านการอบรมหลักสูตรมาตรฐานการดูแลเด็กเล็กและต้องมีจิตใจรักเด็กเป็นพิเศษ
ตามที่มีข่าว ด.ช.มิ้ง หรือ น้องเอ็มเจ อาชวุฒิกุลวงศ์ อายุ 1 เดือน บุตรชายนายสุวิทย์-นางอิสรีย์ อาชวุฒิกุลวงศ์ ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส สมองบวมช้ำ และซี่โครงหัก เข้ารับการรักษาที่ห้องไอ ซี ยู เด็ก ร.พ.บำรุงราษฎร์ กทม. โดยผู้ต้องสงสัยเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่จ้างมาจากสถานเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่ง ในอัตราเดือนละ 1 หมื่นบาทนั้น
ในวันนี้ (27 มีนาคม 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเยี่ยมอาการน้องเอ็มเจ ที่ ร.พ.บำรุงราษฎร์ และให้สัมภาษณ์ว่า ข่าวเด็กอายุแค่ 1 เดือนถูกทำร้ายจนสาหัสปางตายเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 800,000 ราย ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 30 พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูเอง เนื่องจากต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ จึงมักนำเด็กไปให้ญาติดูแล หากไม่มีก็จะใช้วิธีจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลที่บ้าน หรือนำเด็กไปฝากสถานรับเลี้ยงเด็ก ทำให้กิจการรับเลี้ยงเด็กหรือจัดหาพี่เลี้ยงเด็ก เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งรับเลี้ยงเด็กไป-กลับ และจัดส่งพี่เลี้ยงเด็กไปเลี้ยงที่บ้าน คล้ายกับการดูแลคนชรา ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหาในอนาคตเช่นกัน
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า ผู้ที่จะเป็นพี่เลี้ยงเด็กได้นั้น ต้องได้รับการอบรมความรู้ มาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กอย่างดี เพราะการเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิด-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุด หากได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ พี่เลี้ยงเด็กจึงต้องมีความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยด้วย และที่สำคัญอย่างมากคือจะต้องมีจิตใจรักเด็ก เสมือนเป็นญาติที่ใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อพฤติกรรมของพี่เลี้ยงที่แสดงต่อเด็กด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรที่ใช้ในการอบรมพี่เลี้ยงเด็กทั้งของภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีหลายหลักสูตร ตั้งแต่ 210 ชั่วโมง 420 ชั่วโมง หรือ 840 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตให้จัดอบรมจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน หรือกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วจะได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรมาตรฐานแกนหลักสำหรับผู้เลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรณีส่งพี่เลี้ยงดูแลเด็กตามบ้าน จะไม่อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง แต่ทางกระทรวงฯ ก็เห็นความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็ก ซึ่งจะได้เร่งประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจและไม่เกิดปัญหาแบบกรณีนี้ขึ้นมาอีก
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายส่งเสริมให้สถานที่ทำงานต่างๆ เปิดสถานรับเลี้ยงดูเด็กในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้ที่ต้องทำงานได้อยู่ใกล้ชิดกับลูก โดยให้กรมอนามัยพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ ซึ่งจะมีมาตรฐาน ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ การให้บริการด้านต่างๆ อาทิ อาหาร สุขภาพ ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการ การดูแลความปลอดภัย ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบุคลากร จะต้องผ่านการตรวจร่างกายว่าสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ มีสุขภาพจิตดี อายุ 18-25 ปี เป็นคนมีคุณธรรม จริยธรรม จิตใจโอบอ้อมอารี โดยได้เปิดอบรมความรู้ในการดูแลเด็กให้กับพี่เลี้ยงเด็กที่ทำงานในศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กของ อบต. ทั่วประเทศด้วย ซึ่งจะสังเกตได้จากป้ายรับรองศูนย์เด็กเล็ก น่าอยู่ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ควบคุมดูแลศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กต่างๆ ควรเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานของพี่เลี้ยงเด็ก ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ที่ต้องฝากลูกไว้ให้ดูแล นายแพทย์ปราชญ์กล่าวในตอนท้าย
*********************************** 27 มีนาคม 2550
View 11
27/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ