กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบ 720 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียงพร้อมเครื่องมือแพทย์ครบครัน จำนวน 9 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และปรับระบบบริหารจัดการโดยให้ตัวแทนประชาชน องค์กรท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารร่วมกับแพทย์ เจ้าหน้าที่ สนองบริการโดนใจประชาชนสุดๆ โดยจะเปิดบริการ 5 แห่งปีนี้
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างโรงพยาบาลยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายยี่งอ-รือเสาะ หมู่ที่ 4 ต.ยี่งอ บนพื้นที่บริจาคของชาวบ้าน 30 ไร่ ร่วมกับนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการ ผู้บริหารสาธารณสุขและประชาชนอำเภอยี่งอ เมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (26 มีนาคม 2550) ว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณ 73 ล้านบาทเศษ ก่อสร้างโรงพยาบาลยี่งอ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ประจำอำเภอยี่งอ ซึ่งเป็นอำเภอเดียวของประเทศ ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำมาก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมี 6 ตำบล 43 หมู่บ้าน รวมประมาณ 50,000 คน ลดความเสี่ยงในการเดินทางไปรักษาพยาบาล แม้ว่าจะอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนราธิวาสเพียง 20 กิโลเมตรก็ตาม ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมา มีประชาชนอำเภอยี่งอเจ็บป่วยและเดินทางไปใช้บริการที่สถานีอนามัยต่างๆ เฉลี่ยปีละ 10,286 คน ป่วยปีละประมาณ 2 ครั้งต่อคน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ใน พ.ศ. 2551
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ในปีนี้เป็นปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน ให้เป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 9 แห่ง ซึ่งรวมทั้งโรงพยาบาลยี่งอด้วย ใช้งบประมาณ 720 ล้านบาทรวมอุปกรณ์การแพทย์ อาคารบริการสะอาด สง่างามสมพระเกียรติ มีบรรยากาศแวดล้อมร่มรื่น
นายแพทย์มงคลกล่าวอีกว่า โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติทั้ง 9 แห่งนี้ จะมีระบบบริหารจัดการต่างจากที่อื่นๆ โดยใช้คณะกรรมการบริหารเพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกันและมีความโปร่งใส คล่องตัว ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ ประชาชน โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นเลขานุการ มีผู้แทนประชาชนเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อพัฒนาระบบริการให้เหมาะสมกับชุมชน และโดนใจประชาชนมากที่สุด ผสมผสานการดำเนินงานภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน โดยจะเน้นบริการเชิงรุกในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้น้อยที่สุด
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชน 9 แห่งที่พัฒนาเป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยโรงพยาบาลประจำกิ่งอำเภอขนาด 30 เตียง ได้แก่ 1. ร.พ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ 2. ร.พ.เบญจลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ 3.ร.พ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู 4. ร.พ.เขาชะเมา จ.ระยอง 5.ร.พ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา 6. ร.พ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี 7. ร.พ.หาดสำราญ จ.ตรัง อีก 2 แห่ง เป็นโรงพยาบาลประจำตำบลคือร.พ.วัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ขนาด 10 เตียง และโรงพยาบาลประจำอำเภอคือ ร.พ.ยี่งอ นราธิวาส โดยจะเปิดบริการในปีนี้ 5 แห่งได้แก่ ร.พ.พนมดงรัก ร.พ.เบญจลักษณ์ ร.พ.นาวัง ร.พ.ห้วยกระเจา และร.พ.เขาชะเมา ที่เหลือจะเปิดในปี 2551 ซึ่งจะทำให้ทุกอำเภอและกิ่งอำเภอมีโรงพยาบาลครอบคลุมทั้งหมด 735 แห่ง
มีนาคม 9/2 ****************** 26 มีนาคม 2550
View 10
26/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ