รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งส่งเสริมการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก ดูแลและบำบัดรักษาสุขภาพเบื้องต้น ป้องกันโรค กลุ่มผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง ผู้พิการ ตั้งเป้าปีละ 12 ล้านครั้ง และใช้สมุนไพรทดแทนยาแผนตะวันตกในปีหน้าให้ได้ปีกว่า 5,000 ล้านบาท เร่งทุกหมู่บ้านทั่วไทยปลูกป่าสมุนไพร เป็นยา-แหล่งอาหาร-สร้างรายได้ให้ชุมชน หลังนำร่องแล้ว 6 พื้นที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
วันนี้ (31สิงหาคม 2554) ที่อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 8ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้มีในระบบบริการของโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับที่มี 10,851 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค การดูแลและบำบัดรักษาสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆเช่นโรคเบาหวาน อัมพฤกษ์อัมพาต โรคไมเกรน รวมทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีทั้งหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์หลากหลาย และหมอแผนไทยประยุกต์รุ่นใหม่เป็นกำลังคนด้านสุขภาพอีกกว่า 50,000 คน จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ควบคู่กับการแพทย์แผนตะวันตก ตั้งเป้าในปี 2555 จะให้บริการให้ได้12ล้านครั้ง และส่งเสริมให้โรงพยาบาลต่างๆใช้ยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวน 71 รายการ เพื่อทดแทน ลดการใช้ยาแผนตะวันตกให้ได้ปีละกว่า 5,000ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 20ของมูลค่าการใช้ยาทั้งหมด
นอกจากนี้ จะส่งเสริมการทำวิจัยการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ด้วยสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ยังไม่มียาแผนปัจจุบันรักษาหายขาด เช่น มะเร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ด้านแพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯได้ สนับสนุนให้ทุกหมูบ้านปลูกป่าสมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน เป็นทั้งแหล่ง อาหาร ยา แหล่งรายได้ของชุมชนทุกหมู่บ้านในปี 2555 ซึ่งนำร่องไปแล้ว 6 จังหวัด ในปี 2550-2552ได้แก่สุรินทร์ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครสวรรค์ ตรังและพัทลุง จากการประเมินพบว่าในชุมชนที่นำร่องมีหมอพื้นที่บ้านที่เป็นผู้รู้ด้านสมุนไพรทั้งหมด 114 คน พบพันธุ์สมุนไพรและพืชที่เป็นแหล่งอาหารและที่ใช้เป็นยาตำรับรักษาโรค ในพื้นที่มากถึง 737 ชนิด ป่าสมุนไพรบางแห่งเช่นที่ป่าทามท่าสว่าง จ.สุรินทร์ สร้างรายได้ชุมชนปีละ 7 แสนบาท
สำหรับงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 โดยร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ 18 องค์กร และมีเครือข่ายที่เข้าร่วมงานกว่า 100 เครือข่าย เป็นเวทีในการนำเสนอองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและได้สัมผัสการใช้การแพทย์ดั้งเดิมและสมุนไพรเพื่อการดูแลตนเอง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2554 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 7 – 8 เวลา 10.00 – 20.00 น.
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการประชุมวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก นิทรรศการยาไทยยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาไทยทุกภาค หลากตำรับ ตรวจสุขภาพเด็ก วัยรุ่นผู้หญิง ผู้ชาย และผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทย แผนจีน และแพทย์ทางเลือกมีการแนะนำสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งภายในงานจะมีสูตรและวิธีการทำสามารถให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำสูตรนี้นำกลับไปใช้เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของตนเองได้ การปรุงยาสมุนไพร เช่น ยาดองและแจกต้นสมุนไพรแห่งยุค 5 ชนิด 5 วัน ได้แก่ ต้นอัคคีทวาร กินแล้วสวย ต้นรางจืดราชายาแก้พิษ ต้นเพกาต้านอนุมูลอิสระ ต้นเครือเขาแกลบ เพิ่มภูมิคุ้มกัน และต้นตำยาน บำรุงกำลังวันละ300 ต้น และแจกหนังสือบันทึกของแผ่นดินเล่มสี่เรื่องสมุนไพรบำรุงกำลังวันละ 200 เล่ม
นอกจากนี้ยังมีการจัดการอบรมระยะสั้นมากกว่า 40หลักสูตร เช่น การทำลูกประคบ สีผึ้งสมุนไพรแชมพู ยาสีฟันสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สปา การทำชันตะเคียน น้ำนัวปรุงรสแทนผงชูรส การนวดตนเองการกดจุดบำบัด การนวดเด็กแบบจีน และโยคะเพื่อการพึ่งตนเอง ประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนหน้างานได้และหลังจากที่อบรมแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้
.......................... 31 สิงหาคม 2554