กระทรวงสาธารณสุข ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านหรือบริบาลผู้สูงอายุ โดยประกาศให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้ดำเนินการต้องเป็นแพทย์ พยาบาล ส่วนพนักงานดูแลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุจากสถาบันรัฐหรือเอกชน 420 ชั่วโมง เผยผลสำรวจล่าสุดในปี 2550 มีผู้สูงอายุประมาณ 1 ล้าน 6 แสนคน สุขภาพไม่ดี

                     นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการรับมือการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดเมื่อพ.ศ.2550 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 7.02 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่เมื่อ 17 ปีก่อนหรือในปี 2537 ไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งหมด เรื่องหลักที่จะต้องเตรียมการรับมือคือเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีปัญหาสุขภาพสูงกว่าวัยอื่นๆ ผลสำรวจครั้งนี้พบว่ามีผู้สูงอายุร้อยละ 47 หรือประมาณ 3 ล้าน 3 แสนคน ประเมินตนเองว่ามีสุขภาพดี อีกร้อยละ 24 หรือประมาณ 1 ล้าน 6 แสนคน ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพไม่ดี ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มที่สุขภาพไม่ดีนั้น จะต้องได้รับการดูแลพิเศษ

                    นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือช่วยได้น้อย บางครอบครัวที่มีฐานะ อาจจ้างพยาบาลหรือพนักงานไปดูแลแทนที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงฯ ประกาศให้กิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ และออกแนวทางเพื่อใช้เป็นข้อกำหนดมาตรฐานของท้องถิ่น ในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวด้วย

                    สาระสำคัญข้อกำหนดมาตรฐานมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือผู้ดำเนินการกิจการ ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือมีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ซึ่งจัดโดยกรมอนามัยหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องหรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ และจะต้องควบคุมกำกับ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานอย่างน้อยทุก 3 เดือน จัดอบรมฟื้นฟูความรู้พนักงานในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านอย่างน้อยทุก 2 ปี ประการสำคัญจะต้องจัดระบบการส่งต่อผู้สูงอายุ กรณีที่ผู้สูงอายุ เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วย

                   ส่วนที่ 2 มาตรฐานของพนักงานดูแลผู้สูงอายุ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเทียบเท่า มีความรู้และประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุ โดยต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรด้านการพยาบาล ผดุงครรภ์ หรือประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลตามหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง และผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 420 ชั่วโมง โดยในการดูแลผู้สูงอายุ จะต้องดูแลตามกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ เช่นการรับประทานอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย สังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงต่างๆของผู้สูงอายุ รวมทั้งต้องส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุทุกด้าน เช่นออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนให้ผู้สูงอายุ เช่นโรคปอดบวม เป็นต้น

                   นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้สูงอายุทั่วๆไป ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อยหรือช่วยตัวเองไม่ได้ และอยู่ที่บ้าน กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้สถานบริการสาธารณสุขร่วมกับอสม.ออกเยี่ยมฟื้นฟูสุขภาพถึงบ้านและสอนญาติให้ดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกตำบลหรือทุกชุมชนตั้งชมรมผู้สูงอายุ เพื่อเป็นศูนย์กลางทำกิจกรรมในการดูแลส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ป้องกันการเจ็บป่วย

                   ทางด้านนายแพทย์สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า กรมอนามัยได้จัดหลักสูตรอบรมพนักงานดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ประกอบด้วยภาคทฤษฏี 115 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 305 ชั่วโมง เนื้อหาหลักสูตรจะเน้นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ การช่วยเหลือผู้สูงอายุเบื้องต้นในภาวะวิกฤติ การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบขับถ่าย การใช้ยา การส่งเสริมสุขภาพเช่นการออกกำลังกาย ด้านอาหารและโภชนาการ สุขภาพช่องปาก การดูแลสุขภาพจิต และภูมิปัญญาชาวบ้านในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย โทร 0-2590-4504,0-2590-4508                                    

                                                                                                 ********************************* 10 กรกฎาคม 2554



   
   


View 14       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ