กระทรวงสาธารณสุข เน้นมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ คุมเข้มสกัดโรคติดต่อตามแนวชายแดนที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะไข้หวัดนก และโรคมาลาเรีย แนะอย่าให้ยุงก้นปล่องกัด ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้ง หลีกเลี่ยงการเข้าไป ในป่าที่มียุงก้นปล่องอาศัยอยู่ และพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย เช้าวันนี้ (11 มีนาคม 2550) ที่จังหวัดสระแก้ว นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์สมัย กังสวร ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 และคณะ นำทีมสื่อมวลชนดูงานการป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดน ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ซึ่งเป็นด่านที่มีผู้เดินทางเข้าออกจำนวนมาก ทั้งชาวกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาค้าขาย ชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประมาณเดือนละ 3,000-4,000 คน และชาวต่างชาติที่เดินทางไปเที่ยวชมนครวัด นครธมประมาณวันละ 700- 900 คน เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์มีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศทางด่านนี้เฉลี่ย 400,000 คน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำด่าน 2 คน เป็นผู้ประสาน เฝ้าระวังผู้เดินทาง ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และกำจัดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการเกิดโรค นายแพทย์ธวัช กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวชายแดนติดต่อประเทศต่างๆ 4 ด้าน คือ ไทย-กัมพูชา ไทย-ลาว ไทย-พม่า และไทย-มาเลเซีย สำหรับด้านไทย-กัมพูชา ยังมีโรคติดต่อร้ายแรงที่เป็นปัญหา เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส และโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะที่ประเทศกัมพูชามีโรคประจำท้องถิ่นที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ เอดส์ วัณโรค และโรคมาเลเรียที่เป็นปัญหามาก จากข้อมูลผู้ป่วยมาลาเรียต่างชาติในจังหวัดสระแก้ว ปี 2548 พบผู้ป่วยมาลาเรีย 158 ราย ปี 2549 พบ 223 ราย และปี 2550 พบแล้ว 47 ราย เป็นเชื้อที่คล้ายกับเชื้อในไทย มีปัญหาดื้อยา และเนื่องจากผู้คนที่เดินทางเข้าออกเป็นประจำทำให้ประสบปัญหาในการควบคุมโรคมาลาเรียตามแนวชายแดนมาก นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อไปว่า การควบคุมโรคติดต่อที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน ในรูปแบบความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในด้านการสื่อสารข้อมูล การจัดทำแผน การร่วมมือกันปฏิบัติงานตามมาตรการ ทั้งการตรวจสอบตามแนวชายแดน ในช่วงที่มีการระบาดของโรคต่าง ๆ จะมีการประกาศ และคัดกรองผู้ที่จะเดินทางข้ามไปมาระหว่าง 2 ประเทศ ซักประวัติ คัดกรองผู้ต้องสงสัย ตรวจสอบให้ชัดเจน หากพบผู้ต้องสงสัยจะมีระบบการแจ้งและรายงาน เพื่อร่วมกันควบคุมโรคทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับมาลาเรียเป็นโรคที่พบเฉพาะในเขตร้อน จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาก 10 อันดับแรก คือ ตาก สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี ยะลา จันทบุรี แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์และสระแก้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดตามแนวชายแดนที่ยังมีป่าทึบ อาการของผู้ที่เป็นไข้มาลาเรีย หลังถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด เชื้อจะฟักตัวประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เพลีย เบื่ออาหารใน 2-3 วันแรก หลังจากนั้นในปลายสัปดาห์จึงจับไข้เป็นเวลา แต่ส่วนมากจับไข้ทุกวันและอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ไข้มาลาเรียทุกชนิดจะมีอาการไข้ 3 ระยะ คือ ระยะหนาว ระยะเหงื่อออก และระยะพัก การป้องกันมาลาเรียที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงเข้าไป ในป่าเขาตามแนวชายแดนที่มียุงก้นปล่อง และมีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย หรือหากจำเป็นต้องป้องกันอย่าให้ยุงก้นปล่องกัด ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีดำหรือสีคล้ำ เพราะยุงชอบแสงสลัว ๆ ใช้ยาทาป้องกันยุง และควรนอนในมุ้ง นายแพทย์ธวัช กล่าว **************************** 11 มีนาคม 2550


   
   


View 11    11/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ