บ่ายวันนี้ (7 มิถุนายน 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ามาตรการป้องกันการติดเชื้อแบคที่เรียชนิดรุนแรง โอ 104 ซึ่งกำลังเกิดขึ้นและเป็นปัญหาในประเทศยุโรปว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์ของวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมควบคุมโรค พบว่ายังมีรายงานใน 12 ประเทศเท่าเดิม และนักระบาดวิทยาอยู่ระหว่างเร่งค้นหาสาเหตุการติดเชื้อดังกล่าวที่แท้จริง  โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขไทย ในวันนี้ได้จัดทำเอกสารคำแนะนำเรื่องการติดเชื้อแบคทีเรียอี.โคไลชนิดรุนแรง โอ 104 (Enterohaemorrhagic E.coli O104) เพื่อแจกให้ผู้ที่เดินทางมาจาก 13 ประเทศในยุโรปทั้งคนไทยและต่างชาติ เป็นฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยได้ให้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ประสานกับ 13 สายการบินที่มาจากยุโรป ได้แก่ ประเทศเยอรมัน ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และประเทศลักแซมเบิร์ก ซึ่งจะบินเข้าไทยวันละประมาณ   15-20 เที่ยว ประมาณ 3,000-5,000 คน เพื่อให้การดูแลได้อย่างทันท่วงที หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้น 

 

          คำแนะนำดังกล่าวมี 2 ส่วนได้แก่คำแนะนำให้ผู้ที่มีอาการปิดปกติดังต่อไปนี้ภายใน 7 วัน ได้แก่ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือมีเลือดปน หรือมีมูกเลือดปน หรือสงสัยภาวะไตวาย เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปริมาณปัสสาวะน้อยลงอย่างทันทีทันใด ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนด่วน หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต กระบี่ แลเชียงใหม่ โดยต้องแจ้งประวัติเดินทางมาจากยุโรปให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง

 และคำนำในการดูแลสุขภาพ ป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินอาหาร โดยให้รับประทานอาหารสุก สะอาด และล่างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการนำพืชผักผลไม้จากประเทศยุโรปติดตัวมาบริโภคในประเทศไทย หากจะรับประทานขอให้ปรุงสุก เนื่องจากเชื้อนี้จะตายเมื่อถูกความร้อน 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งเอกสารคำแนะนำดังกล่าวไปให้ 13 สายการบินแล้วตั้งแต่ในช่วงบ่ายวันนี้แล้ว

ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันนี้กรมควบคุมโรคได้เปิดสายด่วนสำหรับให้บริการประชาชนในเรื่องโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรียชนิดรุนแรง           อี.โคไล สายพันธุ์ โอ 104 ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 0-2590-3333 และ 1422 

นอกจากนี้นพ.ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการไปยังนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด และขอความร่วมมือกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคอีโคไล ดังนี้  1.เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง  โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางจากทวีปยุโรปหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย  2.เร่งรัดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผู้ที่เดินทางไป-กลับยุโรป ประชาชนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 3.กำชับให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสม

 

*********************************     7 มิถุนายน 2554

 



   
   


View 10       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ