กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนภัยประชาชนป้องกัน 7 โรคที่เกิดในฤดูร้อน และสั่งการทุกจังหวัดเฝ้าระวัง ป้องกันโรคที่มากับภัยแล้ง ทั้งโรคทางกาย เช่น อุจจาระร่วงโรคฮิต และสุขภาพจิตอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภัยแล้ง 46 จังหวัด จากการประเมินการเจ็บป่วยขณะนี้ ยังไม่พบการระบาด บ่ายวันนี้ (7 มีนาคม 2550) ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าว “การเตรียมพร้อมรับภัยแล้งของกระทรวงสาธารณสุข” นายแพทย์มงคล กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึง 3 มีนาคม 2550 มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วรวม 46 จังหวัด 372 อำเภอ 17,688 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 6 ล้านคน ลักษณะอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก และยิ่งอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด จึงเพิ่มความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต และสั่งการให้สถานบริการทั่วประเทศเฝ้าระวังโรค และเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภัยแล้ง 46 จังหวัด ให้รายงานผลการให้ความช่วยเหลือประชาชนส่งส่วนกลางทุกสัปดาห์ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ทันสถานการณ์ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องการป้องกัน 6 โรคในฤดูร้อนส่งไปให้จังหวัดต่างๆ นำไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเพื่อเป็นแนวปฏิบัติไม่ให้ป่วย โรคติดต่อสำคัญที่อาจเกิดขึ้นระหว่างฤดูร้อนและภัยแล้งมี 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ 1 ได้แก่โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ มี 6 โรค ประกอบด้วย อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบชนิด เอ จากการประเมินสถานการณ์ทั่วประเทศตั้งแต่มกราคม-ปัจจุบัน ยังไม่พบมีการระบาด จำนวนผู้เจ็บป่วยใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยมีผู้ป่วยอุจจาระร่วง 127,250 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิต 10 ราย มักเป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด และพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษและไข้ไทฟอยด์ 12,182 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต อาการสำคัญของโรคเหล่านี้คือ มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือมูกเลือด การดูแลในระยะแรกไม่ต้องงดอาหาร สามารถกินอาหารได้ตามปกติ และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) บ่อยๆ โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมน้ำ 1 ขวดน้ำปลากลม หากไม่มีให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา ผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม หากเป็นเด็กให้ดื่มนมแม่หรือนมผสมสลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ได้ และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ที่ผสมแล้วให้หมดภายใน 1 วัน โดยห้ามกินยาเพื่อให้ หยุดถ่าย เพราะจะเป็นการกักเชื้อให้อยู่ในร่างกาย และหากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ การป้องกันโรคเหล่านี้ทำได้โดยล้างมือให้สะอาดก่อนปรุง/กินอาหาร หรือชงนมให้เด็ก ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก กินอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ควรงดการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย ลู่ และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กลุ่มที่ 2 คือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งพบเกิดขึ้นเกือบทุกเดือน เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เมื่อป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกัน ประเด็นสำคัญที่เน้นหนักในการป้องกันโรค ให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์เรื่องการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ถ่ายลงส้วม และให้ดูแลความสะอาดของสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นแหล่งแพร่โรค โดยประยุกต์ตามพื้นที่ความรุนแรงขาดแคลนน้ำ 3 ระดับ ระดับ 1 คือพื้นที่ที่ยังมีน้ำดื่มน้ำใช้อยู่บ้าง ระดับ 2 เป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เลย ต้องนำน้ำจากพื้นที่อื่นๆ มาใช้ และระดับ 3 คือพื้นที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ต้องได้รับความช่วยเหลือจากส่วนกลาง โดยจะดูแลเข้มข้นตั้งแต่ความสะอาดน้ำดื่มน้ำใช้ มีการประสานกับการประปา เทศบาลและอบต. เพื่อดูแลให้มีสารคลอรีนตกค้างตามมาตรฐาน อาหาร ตลาดสด ส้วม การกำจัดขยะมูลฝอยไม่ให้เป็นแหล่งแพร่แมลงวัน โดยให้ล้างตลาดสดทุกเดือน หากพื้นที่ใดมีโรคระบบทางเดินอาหารระบาด ให้ล้างฆ่าเชื้อทุกอาทิตย์ และสุ่มตรวจมาตรฐานความสะอาดในอาหารถุง ร้านอาหารและแผงลอยต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ส้วม ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักสิ่งปฏิกูลไม่ให้แพร่กระจายสิ่งแวดล้อม จากการสำรวจพบว่าในหมู่บ้านกว่าร้อยละ 90 จะใช้ส้วมราดน้ำหรือที่เรียกว่าส้วมซึม ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด สามารถนำน้ำจากการซักล้างเสื้อผ้าแล้วไปราดส้วมต่อ ซึ่งน้ำดังกล่าวจะมีสารเคมีที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและดับกลิ่นได้ ขณะเดียวกันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ผลิตชุดทดสอบอาหาร อาหารเลี้ยงเชื้อ และเจลล้างมือ เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนให้กับสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ภัยแล้งด้วย ส่วนน้ำดื่มบรรจุเสร็จ น้ำแข็งก้อนและน้ำแข็งหลอด ซึ่งจะมีการบริโภคในหน้าร้อนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวของปกติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จะควบคุมมาตรฐานความสะอาดอย่างเข้มข้น โดยก่อนซื้อขอให้ประชาชนดูเครื่องหมาย อย. ที่ระบุแหล่งผลิต ที่ชัดเจน นอกจากนี้ ภาวะอากาศที่ร้อน แล้ง จะมีผลให้ประชาชนเกิดความเครียด หงุดหงิดได้ง่าย หากมีการดื่มสุราร่วมด้วยจะยิ่งส่งเสริมให้มีอาการมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตเตรียมบุคลากรไว้รองรับเรื่องนี้ด้วย ประชาชนสามารถขอรับบริการได้ที่ศูนย์สุขภาพจิต โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโทรปรึกษาที่สายด่วน 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง *********************** 7 มีนาคม 2550


   
   


View 14    07/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ