ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยนักโภชนาการระดับโลก แนะคุณประโยชน์ของถั่วเหลือง สามารถใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ชั้นยอด ราคาถูก อีกทั้งช่วยลดอาการร้อนวูบวาบของหญิงวัยหมดประจำเดือน และเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะในการควบคุมน้ำหนักเพราะมีไขมันต่ำ
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 7 เกี่ยวกับถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมถั่วเหลืองแห่งอเมริกา และนักวิชาการด้านอาหารเกี่ยวกับถั่วเหลือง มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกประมาณ 200 คน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ นักโภชนาการระดับภูมิภาคและระดับโลก ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับถั่วเหลือง ซึ่งมีประโยชน์ทางด้านโภชนาการและสร้างเสริมสุขภาพ มาใช้แทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์อีกทางหนึ่ง เนื่องจากเป็นพืชที่หาได้ง่ายและมีราคาถูก โดยพบว่าถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูง เพราะมีกรดอะมิโนใกล้เคียงกับโปรตีนของไข่และนม แต่ยังมีแคลเซี่ยมช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกน้อยกว่านมวัว ดังนั้นในอนาคตจะมีการเพิ่มแคลเซี่ยมในนมถั่วเหลืองให้ใกล้เคียงกับนมวัว คนที่ดื่มนมวัวไม่ได้ เช่น ดื่มแล้วอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ก็จะสามารถดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนได้ และสามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ด้วย
นอกจากนี้การกินถั่วเหลืองเป็นประจำ ยังช่วยลดอาการร้อนวูบวาบของหญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากถั่วเหลืองมีสารที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฮอร์โมนของเพศหญิง เป็นอาหารที่มีไขมันต่ำเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และหากแปรรูปเป็นน้ำเต้าหู้จะเป็นอาหารเช้าที่มีประโยชน์ ราคาถูก สามารถหาได้ง่ายทั่วไปอีกด้วย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันทั่วโลกยังมีปัญหาทางด้านโภชนาการ ทั้งปัญหาน้ำหนักเกิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในประเทศพัฒนาแล้ว และปัญหาการขาดสารอาหาร โดยรายงานล่าสุดพบว่าทั่วโลกมีเด็กทารกคลอดออกมาและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนด คือไม่ต่ำกว่า 2500 กรัม ประมาณ 30 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของเด็กที่เกิดใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดสารอาหารประเภทโปรตีน พบมากที่สุด โดยพบว่าผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดอาหารระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่คลอดทุก 1 ใน 6 คน จะมีน้ำหนักตัวน้อย ทำให้เด็กมีต้นทุนทางสุขภาพน้อย มีผลต่อการพัฒนาของเด็ก เด็กจะเจ็บป่วยง่าย โดยเด็กที่ขาดสารอาหารโปรตีนร้อยละ 70 อยู่ในประเทศเอเชีย อีกร้อยละ 26 อยู่ในทวีปอัฟริกา ในส่วนของประเทศไทย จากการสำรวจล่าสุดพบมีเด็กวัยเรียนขาดสารอาหารโปรตีนและพลังงานลดลง จากร้อยละ 14 ในปี 2546 เหลือประมาณร้อยละ 10 ในปี 2547
**************************** 7 มีนาคม 2550
View 15
07/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ