น้ำ อาหาร สุขา ป้องกันโรคระบาด และด้านสุขภาพจิต ระดมหน่วยแพทย์จากจังหวัดใกล้เคียงช่วยดูแลประชาชนในศูนย์อพยพทั้ง 33 แห่ง พบป่วยแล้วกว่า 2,800 คน มากสุดโรคทางเดินหายใจ ด้านจิตใจพบเครียด ซึมเศร้า 69 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 16 คน สั่งประกบดูแลเป็นรายบุคคล

วันนี้ (25 เมษายน 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ประชุมวางแผนจัดบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขรองรับเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจทหารบาดเจ็บที่นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ 6 คน หลังจากนั้นเดินทางไปเยี่ยมประชาชนในศูนย์อพยพนิคมสร้างตนเองปราสาท และตรวจเยี่ยมให้กำลังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
นายจุรินทร์กล่าวว่า  กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ดูแลเป็นพิเศษ 3เรื่อง คือ 1.จัดระบบส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจุบันเรารับมืออยู่ และมีการจัดระบบการส่งต่อชัดเจนอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ 2.ด้านสุขภาพจิตของประชาชนในศูนย์อพยพทั้ง 33แห่ง เป็นเรื่องปกติ เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติต้องมีความเครียด จากสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน ความห่วงทรัพย์สิน รวมทั้งสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านความปลอดภัยนำไปสู่ความเครียด  โดยในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาได้คัดกรองด้านสุขภาพจิตผู้อพยพ จำนวน 8,000 คน พบเครียด 98 คน เครียดสูง 29 คน เครียดและซึมเศร้า 69 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 16 คน อาการรุนแรงที่ต้องเฝ้าระวัง 36 คน ต้องพบจิตแพทย์และให้ยา 84 คน โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดูแลใกล้ชิด ให้ประกบดูแลเป็นรายบุคคล
และ3.ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม น้ำ อาหาร สุขา สภาพที่อยู่อาศัยในศูนย์อพยพ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำได้ดีปัญหาน้อยมากเพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแลตั้งแต่ต้น รวมทั้งการควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาด เพราะคนอยู่รวมกันมาก ๆ อาจเกิดปัญหาได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 22-25เมษายน 2554มีทหารได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ จำนวน 32 ราย เสียชีวิต 5 ราย มีประชาชนได้รับผลกระทบ ที่อำเภอกาบเชิง และพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ 57,055 คน อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ 15,884 คน  กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์ดูแลในศูนย์อพยพ ทุกแห่ง 33 แห่ง ในจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีประชาชนในศูนย์อพยพประมาณ 27,000 คน  โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ จัดทีมแพทย์เข้าไปดูแล  รวมทั้งระดมทีมแพทย์พร้อมรถพยาบาลจากจังหวัดนครราชสีมา  ขอนแก่น และบุรีรัมย์   เข้าช่วยเสริม
จนถึงวันนี้มีประชาชนในศูนย์อพยพเข้ารับบริการ จำนวน 2,841 คน ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ 1,690 คน ระบบทางเดินอาหาร 378คน ปวดศีรษะ 340 คน ปวดหลัง กล้ามเนื้ออักเสบ  223 คน และอื่น ๆ 210 คน                                     
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลชายแดนจำเป็นต้องมีหลุมหลบภัย โดยจังหวัดสุรินทร์จะสร้างทั้งหมด 28 หลุม แบ่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 18 แห่ง ๆ ละ 1 หลุม โรงพยาบาลชุมชน 2 แห่ง ๆ ละ 4 หลุม และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 2 แห่ง ๆ ละ 1 หลุม ส่วนที่จังหวัดบุรีรัมย์จะสร้างให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 8 แห่ง ๆ ละ 1 หลุม ทั้งนี้จะใช้โครงสร้างของหลุมหลบภัยแบบเดียวกับของทหารและกระทรวงมหาดไทย โดยจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
********************************* 25 เมษายน 2554


   
   


View 14       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ