สาธารณสุข พบปัญหาการถูกทำร้ายจนเจ็บและตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบเจ็บปีละประมาณ 45,000 คน ตายปีละเกือบ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน พบในชายมากกว่าหญิง 7 เท่าตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา มีแนวโน้มชอบใช้กำลังตัดสินปัญหามากขึ้น ขณะที่เด็กเล็กวัยไม่ถึงขวบ ต้องตกเป็นเหยื่อสังเวยชีวิตทุกปี ปีละ 1-2 คน แนะทางแก้ไขเริ่มที่ครอบครัว โดยเอาใจใส่ปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บจากการถูกทำร้าย ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งตัวเข้าดูแลรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในแต่ละภาค รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 19 แห่ง พบว่าตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2548 สัดส่วนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายด้วยวิธีต่างๆ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2543 บาดเจ็บ 7,387 คน เสียชีวิต 508 คน ในปี 2548 การบาดเจ็บเพิ่มเป็น 11,071 คน เสียชีวิตเพิ่มเป็น 645 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุขนส่ง โดยเพศชายบาดเจ็บมากกว่าเพศหญิง 7 เท่าตัว กว่าครึ่งมีอายุระหว่าง 15-29 ปี ผู้บาดเจ็บร้อยละ 51 มีอาชีพผู้ใช้แรงงาน รองลงมาเป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ประมาณร้อยละ 15 ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะการบาดเจ็บในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่สำคัญคือพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีถูกทำร้ายจนเสียชีวิตปีละ 1-2 ราย จากการถ่วงน้ำ กดน้ำ ใช้กำลังกาย และถูกปล่อยปละละเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าสลดใจอย่างมาก เมื่อดูในภาพรวมทั้งประเทศ คาดว่าจะมีผู้บาดเจ็บจากการถูกทำร้ายปีละประมาณ 29,000-45,000 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลภาครัฐอื่นและเอกชน ขยายผลถึงระดับ อบต. เพื่อการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็วยังที่เกิดเหตุ รวมทั้งเปิดศูนย์พึ่งได้ ให้บริการหญิงและเด็กที่ถูกทำร้ายแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ทั้งการรักษาพยาบาล รับแจ้งความ และจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้ถ้าจำเป็น สามารถโทรศัพท์แจ้งขอรับความช่วยเหลือที่ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การทำร้ายที่พบบ่อยที่สุด คือการใช้วัตถุมีคม รองลงมาเป็นวัตถุไม่มีคม อาวุธปืน และการใช้กำลังกาย ทั้งนี้การถูกทำร้ายด้วยอาวุธปืนและกำลังกายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะการทำร้ายด้วยอาวุธปืน พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากร้อยละ 13-15 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 18 ในปี 2548 และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ถูกทำร้ายเสียชีวิตมากที่สุด สำหรับสถานที่เกิดเหตุถูกทำร้าย พบว่าร้อยละ 40-50 เกิดขึ้นที่บ้านและบริเวณบ้าน รองลงมาเป็นถนน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 15 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2548 ช่วงเวลาที่มีการทำร้ายสูงสุดคือ ช่วงหัวค่ำถึงดึก (19.00-24.00 น.) มักทำร้ายในวันเสาร์และอาทิตย์มากกว่าวันอื่น ขณะที่เดือนเมษายนและธันวาคมซึ่งมีวันหยุดเทศกาลหลายวัน ก็พบมีการทำร้ายมากกว่าเดือนอื่นเช่นกัน สาเหตุของการทำร้ายกันนี้ การใช้แอลกอฮอล์น่าจะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการทำร้ายมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามีการใช้แอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุ 10-60 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มอายุ 15-39 ปี มีการใช้แอลกอฮอล์สูงที่สุด ถึงกว่าร้อยละ 80 ปัญหาการถูกทำร้ายที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน รวมทั้งเด็กเล็กๆ ที่อยู่ในวัยกำลังน่ารักน่าเอ็นดู ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ถูกบีบคั้น หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่ไม่เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน แนวทางแก้ไขจึงควรเริ่มที่ครอบครัว โดยการให้ความรักความอบอุ่น สร้างความผูกพัน ดูแลปลูกฝังสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ให้รู้จักการใช้ชีวิตตามกฎระเบียบของสังคม และมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่น นายแพทย์ธวัชกล่าว **************** 4 มีนาคม 2550


   
   


View 12    04/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ