ปลัดกระทรวงสาธารณสุข น้อมนำพระราชดำรัส “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาให้ผู้บริหารสาธารณสุขยึดเป็นแนวทางการบริหารสาธารณสุขอย่างมืออาชีพ โดยผู้บริหารสาธารณสุขในยุคเปลี่ยนแปลงนี้ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 6 ประการอาทิ คิดกว้างมองไกล ทำงานเป็นทีม ทันข่าวสาร เช้าวันนี้ (1 มีนาคม 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุข ครั้งที่ 4 เรื่อง “อนาคตสาธารณสุขไทย ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และบรรยายพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์สาธารณสุขในกระแสการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักบริหารสาธารณสุขร่วมกับวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข สถาบันพระบรมราชชนก ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2550 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี มีผู้บริหารร่วมประชุม 600 คน เพื่อให้ผู้บริหารได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการบริหารงานสาธารณสุขในปีนี้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น กระแสบริโภคนิยม วิกฤตทางสังคม ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงของการเกิดโรค วิบัติภัยจากธรรมชาติ การระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง การบริหารของภาครัฐ ฯลฯ กระแสโลกาภิวัตน์นี้ส่งผลให้การบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณสมบัติของนักบริหารสาธารณสุขในกระแสการเปลี่ยนแปลง จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 6 ประการได้แก่ 1.ต้องคิดกว้างมองไกล 2.เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส 3.ทำงานเป็นทีม 4.คิดดี พูดดี ทำดี 5.เลือกวิธีทำงานที่เหมาะสม และ 6.ติดตามรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันสถานการณ์ ทั้งนี้ผู้บริหารทุกระดับ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและกำหนดยุทธวิธีดำเนินงานที่เหมาะสม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่นำมาปฏิบัติในสังคมไทย และสอดคล้องกับศาสนาพุทธ ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติสายกลาง เน้นความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นการพัฒนาทั้งงานและจิตใจ ที่เริ่มจากขั้นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ให้คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว มาช่วยในการบริหารงานสาธารณสุขอย่างมืออาชีพ ภายใต้สังคมสมานฉันท์ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับยุทธศาสตร์สาธารณสุข ในกระแสการเปลี่ยนแปลง ตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่จะใช้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ที่มุ่งสู่ระบบสุขภาพพอเพียง เพื่อสร้างให้ “สุขภาพดี บริการดี สังคมดี ชีวิตมีความสุขอย่างพอเพียง” ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.สร้างเอกภาพและธรรมาภิบาลในการจัดการระบบสุขภาพ สนับสนุนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น 2.สร้างวัฒนธรรมสุขภาพและสังคมแห่งสุขภาวะ โดยขยายงานอาสาสมัครหลากหลายรูปแบบให้เกิดจิตอาสาทั่วแผ่นดิน 3.สร้างระบบบริการสุขภาพที่ผู้รับอุ่นใจ ผู้ให้มีความสุข ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้กับผู้รับบริการ ขณะเดียวกันจะพัฒนางานบริการสุขภาพชุมชนลดความแออัดในโรงพยาบาล 4.สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดผลกระทบจากโรคและภัยคุกคามสุขภาพ 5.สร้างทางเลือกสุขภาพที่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยและสากล และ 6.สร้างระบบสุขภาพฐานความรู้ด้วยการจัดการความรู้ ********************************** 1 มีนาคม 2550


   
   


View 14    01/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ