สาธารณสุขเร่งพัฒนาระบบบริการประชาชนใกล้บ้าน ไม่เสียเวลาเดินทางเข้าอำเภอ โดยยกระดับสถานีอนามัยให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชน มีแพทย์ มีเครื่องมือแพทย์เหมือนโรงพยาบาล จัดรถพยาบาลส่งต่อผู้ที่มีอาการหนัก ตั้งเป้ารองรับผู้ป่วยเพิ่มจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ส่วนโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ จะกระจายคลินิกตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทั่วไปในชานเมือง ตั้งเป้าลดความแออัดในโรงพยาบาลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20
เช้าวันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2550) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กทม. นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ การพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลในชุมชน ระดับประเทศ ครั้งที่ 2 จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายวิชาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล จากทั่วประเทศ จำนวน กว่า 2,000 คน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชน โดยในการประชุมวันนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระบบสุขภาพชุมชน คือรากฐานของระบบสุขภาพ ด้วย
นายแพทย์มานิต กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของโลก มีแนวโน้มให้ความสำคัญการพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพแบบเชิงรุกในชุมชน การออกค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ส่งเสริมการสร้างสุขภาพ รวมทั้งการให้บริการประชาชนดุจเป็นญาติมิตร แทนที่จะลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การผลิตผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการตั้งรับ รอให้บริการแก่ผู้ที่ป่วยแล้ว เนื่องจากปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนทั่วโลก รวมทั้งคนไทย อันดับ 1 มาจากพฤติกรรม ที่สำคัญคือโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ เป็นต้น จึงต้องเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรค ซึ่งเป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่มีค่าใช้จ่ายน้อยแต่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว
นายแพทย์มานิต กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาบริการเชิงรุก กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งพัฒนาคุณภาพ ขยายบริการให้ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด แบ่งเป็น 2 จุดใหญ่ คือ ในระดับหมู่บ้าน ที่มีสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชนดูแลอยู่แล้ว จะพัฒนาศักยภาพให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชน มีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เช่น เครื่องตรวจความปิดปกติเลือด เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องเอ็กซเรย์ ประชาชนสามารถตรวจรักษาที่หมู่บ้านได้ และมีรถพยาบาลฉุกเฉิน หากมีอาการหนักก็จะประสานส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลเครือข่าย วิธีนี้ประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ต้องไปแออัดใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ ตั้งเป้าเพิ่มการใช้บริการของประชาชนจากเดิมร้อยละ 50 ในปี 2546 ให้เป็นร้อยละ 70 ภายใน พ.ศ.2554
ส่วนระดับโรงพยาบาลใหญ่ คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งมักเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางผู้ป่วยใช้บริการวันละกว่า 1,000 ราย จะลดความแออัดโดยกระจายคลินิกบริการ มีแพทย์พยาบาลไปให้บริการตรวจรักษาเหมือนเป็นแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลทุกอย่าง เพื่อตรวจผู้เจ็บป่วยทั่วไป ยังคงระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยนัดพิเศษที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ตั้งเป้าจะลดความแออัดของแผนกบริการผู้ป่วยนอกลงจากเดิมได้ร้อยละ 20 การบริการจะรวดเร็วขึ้น ทั้ง 2 รูปแบบนี้ ตั้งเป้าจะเพิ่มความพึงพอใจประชาชนให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85
************************* 22 กุมภาพันธ์ 2550
View 16
22/02/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ