กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไข้หวัดนก 12 จังหวัดล่าสุด พบเกือบร้อยละ 60มั่นใจมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกของภาครัฐ ประชาชนมีความรู้เรื่องหวัดนกและมีพฤติกรรมป้องกันดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ยังมีประมาณร้อยละ 10 ที่ยังจงใจปกปิดข้อมูลสัตว์ปีกป่วย/ตาย เร่งแก้ไข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดนกระลอกที่ 4 ว่า ขณะนี้พบเพียงการติดเชื้อในสัตว์ปีก ยังไม่มีการติดเชื้อมาสู่คน แต่กระทรวงสาธารณสุขยังคงดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้สำรวจพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดนกของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก 12 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครพนม อุดรธานี หนองคาย กาญจนบุรี นครนายก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรีและอ่างทอง จำนวน 2,406 คน ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาล ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2550 เพื่อนำมาปรับกระบวนการทำงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกในคนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยสำรวจ 3 เรื่องใหญ่ๆได้แก่ ความคิดเห็นต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนกรอบใหม่ ความรู้โรคไข้หวัดนก และพฤติกรรมป้องกันโรคไข้หวัดนก นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ผลสำรวจในด้านความคิดเห็น ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละ 60 มั่นใจมาตรการที่ภาครัฐดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก ร้อยละ 44 ยังกังวลต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก และร้อยละ 48 กลัวการติดเชื้อไข้หวัดนก และที่สำคัญพบว่าพฤติกรรมการปกปิดข้อมูลสัตว์ปีกป่วย/ตายในหมู่บ้านดีขึ้น โดยร้อยละ 62 ไม่ปิดข้อมูล มีเพียงร้อยละ 10 ยังปกปิดข้อมูล และอีกร้อยละ 60 ไม่แน่ใจว่าสัตว์ปีกที่ขายในท้องตลาดจะปลอดภัยจากไข้หวัดนกหรือไม่ สำหรับด้านความรู้โรคไข้หวัดนก พบว่า มีความรู้ถูกต้อง ทั้งเรื่องอาการ การติดต่อ การกำจัดซากสัตว์ปีก อาการที่สงสัยป่วยจากไข้หวัดนก วิธีการป้องกัน และการแจ้งสัตว์ปีกป่วยตาย เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 90 ในขณะที่ปี 2549 มีความรู้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 64 โดยความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดนกที่จะต้องเร่งรณรงค์อีก 2 เรื่อง คือการทำความสะอาดบ้านบริเวณบ้านให้สะอาดและกินอาหารสุก เนื่องจากกว่าร้อยละ 80 ยังไม่รู้ ส่วนด้านพฤติกรรมการป้องกันไข้หวัดนก พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 59 มีพฤติกรรมที่ถูกต้องในระดับปานกลางเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 37 เท่านั้นที่อยู่ในระดับดี พฤติกรรมที่ปฏิบัติได้ถูกต้องมากที่สุดได้แก่การกินเนื้อสัตว์ปีกที่ปรุงสุกร้อยละ 87 ไม่นำสัตว์ปีกป่วย/ตายมาปรุงอาหารร้อยละ 86 ล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์ปีก น้ำลาย น้ำมูกหรือมูลสัตว์ปีกหรือสัตว์เลี้ยงอื่นร้อยละ 78 เลือกซื้อสัตว์ปีกมาบริโภคถูกวิธีร้อยละ 70 ด้านนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งในเรื่องไข้หวัดนกก็คือ แม้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมีความรู้ในระดับดีเพิ่มขึ้นจากที่เคยสำรวจในปี 2549 ร้อยละ45 เป็นร้อยละ 65 ในปี 2550 แต่ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติที่ถูกต้องในระดับดีกลับลดลงกว่าเดิมจากร้อยละ 55 ในปี 2549 เหลือร้อยละ37 ซึ่งความรู้และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคไข้หวัดนกที่ถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกให้ประสบความสำเร็จ ได้มอบให้กองสุขศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนนำไปพัฒนาต่อ โดยขยายเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดนกในชุมชนเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข ชมรมสร้างสุขภาพที่มีกว่า 60,000 ชมรม และผู้นำชุมชน ย้ำเตือนประชาชนไม่ให้ประมาท และเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดการระบาดของโรค เช่น การเลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อย การกำจัดสัตว์ปีก การดูแลความสะอาดบ้าน บริเวณบ้านและชุมชน การล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดเป็นประจำ **กุมภาพันธ์4/9 ********* 17 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 13    17/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ