สาธารณสุข เผยคนไทยเป็นโรคเบาหวานแล้วกว่า 3 ล้านคน เหตุจากอ้วน กินไม่ระวัง ไม่ออกกำลังกาย แนะ 4 วิธีสำรวจความอ้วน ส่วนอธิบดีกรมอนามัยเผยผลสำรวจผู้บริหารกรมอนามัย พบผู้บริหารชายพุงพลุ้ยมากกว่าหญิง เตรียมจัดโครงการประเมินผู้บริหารทั้งกระทรวงในวันที่ 19 ก.พ.นี้ วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ภายหลังเปิดการประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับชาติ ครั้งที่ 4 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กทม. ว่า ขณะนี้คนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อรังมาก จากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการกินอาหารที่มีผักน้อย กินอาหารรสหวานมาก แต่ออกกำลังกายน้อย ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพที่กำลังรุนแรงในปัจจุบัน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ รวมทั้งโรคอ้วน เมื่อโรคเหล่านี้มีอาการกำเริบรุนแรง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากยารักษาโรคดังกล่าวมีราคาแพงและต้องใช้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการสำรวจสุขภาพประชาชนทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2547 พบ คนไทยเสี่ยงต่อภาวะโรคเบาหวานจำนวน 3.2 ล้านคน ต้นเหตุสำคัญมาจากความอ้วน การดูแลตัวเองไม่ให้อ้วนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรณรงค์แก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และการออกกำลังกาย นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในการประเมินตัวเองว่าอ้วนหรือไม่นั้น สามารถทำได้หลายวิธี ง่ายที่สุดคือดูจากเสื้อผ้าที่ใส่ประจำ หากสวมใส่แล้วรู้สึกว่าคับ อึดอัด หรือหากยืนตัวตรงแล้วมองไม่เห็นปลายนิ้วเท้าของตัวเองก็แสดงว่าอ้วนเพราะพุงใหญ่ และอีกวิธีใช้การประเมินจากค่าดัชนีมวลกาย โดยใช้น้ำหนักตัวหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง ซึ่งค่าปกติอยู่ระหว่าง 18–25 กิโลกรัมต่อตารางกิโลเมตร หากเกิน 25 ขึ้นไปถือว่าอ้วน ส่วนวิธีสุดท้ายคือ การวัดเส้นรอบเอวของตนเอง ค่ามาตรฐานเอวผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว ส่วนผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปอีกว่า บันไดขั้นแรกสู่สุขภาพดีไม่อ้วน ต้องเริ่มต้นที่การกิน โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาหารที่ต้องลด ได้แก่ อาหารที่มีรสหวาน มัน อาหารประเภทแป้ง เช่น โดนัท มันฝรั่งทอด ข้าว อาหารที่มีไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื่องจากไขมันสัตว์เป็นไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนที่เป็นอันตราย อาหารที่ต้องเพิ่ม ได้แก่ ผักทุกชนิด และผลไม้ที่รสหวานไม่มาก เช่น มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ เป็นต้น และพฤติกรรมที่ต้องสร้างควบคู่ไปก็คือการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันไม่ให้เกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของความอ้วน ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที สามารถทำได้หลายวิธีตามสะดวก เช่น การเดินแทนการขึ้นลิฟท์ การวิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเดินเร็ว เป็นต้น ด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพครั้งล่าสุดในปี 2547 พบว่าคนที่อ้วนลงพุงเป็นเบาหวานมากกว่าคนไม่อ้วนลงพุง 3 เท่า มีความดันโลหิตสูงและไขมันโคเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันตัวร้ายมากกว่า 2 เท่า และคนอ้วนลงพุงจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจวายมากกว่าคนทั่วไปถึง 1 เท่า ทั้งนี้จากการวัดเส้นรอบเอวผู้บริหารกรมอนามัยเมื่อต้นปี 2549 จำนวน 22 คน พบว่าผู้บริหารชายร้อยละ 56 มีเส้นรอบเอวเกิน 36 นิ้ว ส่วนผู้บริหารหญิงพบเส้นรอบเอวเกินมาตรฐานร้อยละ 43 ในปีนี้กรมอนามัยจะจัดโครงการต่อ โดยจะประเมินผู้บริหารทั้งกระทรวง ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ใครอ้วนจะมีการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งจัดเมนูอาหารว่างที่ไร้ไขมัน อ่อนหวาน และประเมินอีกครั้งเมื่อครบ 3 เดือน ************************* 15 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 13    15/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ