สธ.รับมอบอุปกรณ์การแพทย์จากรัฐบาลญี่ปุ่น สนับสนุนการควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 ระหว่างประเทศ กระชับความสัมพันธ์ด้านสาธารณสุข
- สำนักสารนิเทศ
- 275 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุข พบคนไทยกว่า 7 ล้านคน เป็นโรคกระดูกพรุน โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเก๊าท์ พบในคนสูงอายุมาก แนะการป้องกันก่อนเข้าวัยชรา ต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงการคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย น้ำหนักตัว
วันนี้ (3 ตุลาคม 2553) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี กทม. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมและสัมมนาวิชาการเรื่อง “ทศวรรษใหม่ในการรักษาโรคกระดูกและข้อ” จัดโดยองค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทย เนื่องในวันโรคข้อสากลประจำปี 2553 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยเงียบของโรคกระดูกและข้อ และส่งเสริมการป้องกันและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคกระดูกพรุนและโรคข้อเสื่อม กำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามคุณภาพชีวิตประชาชน มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุ เป็นโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มตามจำนวนของผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทุกข์ทรมานมากในการลุกเดินหรือนั่ง เป็นอาการที่ชาวบ้านพูดกันว่า นั่งก็โอย ลุกก็โอย ขณะนี้คาดว่าจะมีคนไทยมีปัญหาโรคข้อเสื่อม กระดูกพรุนประมาณ 7 ล้านคน กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ ผู้สูงอายุมีประมาณ 6 ล้านคน และยังมีผู้มีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้องลาหยุดงาน รวมทั้งโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเก๊าท์อีกประมาณ 1 ล้านคน แม้ว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวนี้ ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวด มีผลกระทบต่อครอบครัว โดยเฉพาะอันตรายของข้อเข่าเสื่อม หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นยืน หรือเดินได้ด้วยตนเองได้ “ที่น่าห่วง พบว่าอุปนิสัยของคนไทยโดยทั่วไป ชอบใช้เข่าในท่าพับงอ เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือการนั่งยองๆ การนั่งในลักษณะนี้ ข้อมูลวิชาการแพทย์พบว่าทำให้เสี่ยงกระดูกอ่อนเสื่อมเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ มีความเสี่ยงทำให้ข้อเข่าเสื่อมง่ายขึ้น”
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ โดยสนับสนุนให้มีการออกกำลังกายที่ถูกวิธี เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกายในน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก การออกกำลังกายจะให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและชะลอไม่ให้เกิดความเสื่อมของข้อได้ นอกจากนี้ในการรักษายังส่งเสริมการรักษาโรคข้อด้วยการแพทย์ทางเลือกด้วย เพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบันบางชนิดอาจมีผลข้องเคียงทำให้กระเพราะอาหารเป็นแผล ทะลุได้
ทางด้านนายแพทย์ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ ประธานองค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทยกล่าวว่า โรคข้อเสื่อมเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม น้ำหนักตัว การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง อาชีพที่มีการใช้งานของข้อมากเช่น ช่างเสริมสวย ครู และเกษตรกรเพราะต้องยืนทำงาน เข่าจะต้องรับน้ำหนักประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัว ในการป้องกันไม่ให้ข้อเสื่อมและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด ขอแนะนำให้ประชาชนใช้ส้วมแบบนั่งห้อยขาแทนส้วมนั่งยอง เพราะจะให้ข้อไม่งอพับนานเกินไป และควรออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอทุกวันถึงแม้ว่าจะยังไม่มีอาการปวดเข่าก็ตาม
********************************************* 3 ตุลาคม 2553