สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมหมู่บ้านปีแนมูดอ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทรงติดตามโครงการในพระราชดำริ โดยผลจากเหตุการณ์ไม่สงบ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการป้องกันโรคเท้าช้างได้เพียงร้อยละ 50 ของพื้นที่ ขณะนี้จังหวัดนราธิวาสพบผู้ป่วยโรคเท้าช้างมากที่สุดในประเทศ 118 ราย อายุน้อยสุดแค่ 2 ขวบ ส่วนเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ พบขาดสารอาหารเกือบ 2,000 คน สาเหตุสำคัญร้อยละ 24 เกิดจากพยาธิ อันดับ 1 คือ พยาธิไส้เดือน และการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง
วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2550) เวลา 14.25 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจติดตามโครงการในพระราชดำริ ณ บ้านปีแนมูดอ หมู่ 10 ตำบลบูกิต
อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายแพทย์สุเทพ วัชรปิยานันท์ สาธารณสุขนิเทศประจำ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเจ้าหน้าที่ เฝ้า รับเสด็จฯ โดยบ้านปีแนมูดอ หมู่ 10 ประกอบด้วย 3 กลุ่มบ้านได้แก่ กลุ่มบ้านบาลูกายือนุ กลุ่มบ้านปีแนมูดอ และกลุ่มบ้านมูฮายีริน รวม 93 หลังคาเรือน ประชากร 581 คน มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ 46 คน เฝ้าระวัง 44 คน ในจำนวนนี้น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ 3 คนคิดเป็นร้อยละ 6.82 ของเด็กทั้งหมด มีผู้พิการ 1 คน หญิงตั้งครรภ์ 1 คนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 45 คน มีอาสาสาสมัครสาธารณสุข 8 คน ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน 1 แห่ง
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยที่จังหวัดนราธิวาสพบปัญหาสำคัญ 2 เรื่องได้แก่ โรคเท้าช้าง ซึ่งพบผู้ป่วยอยู่เพียงจังหวัดเดียวในภาคใต้และมีปัญหาการติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ เสี่ยงต่อการเกิดความพิการถาวร และปัญหาเด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และพัฒนา
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ผลจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าสาธารณสุขเข้าไปติดตามป้องกันแก้ปัญหาสุขภาพชาวบ้านได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะโรคเท้าช้าง ล่าสุดในปี 2549 มีอัตราป่วย 33 ต่อแสนประชากร สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่กำหนดไม่เกินแสนละ 3 คน ถึง 11 เท่าตัว เนื่องจากมีป่าพรุใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงเสือที่เป็นพาหะนำเชื้อ คือ บรูเกีย มาลาไย (Brugia malayi) มาสู่คน มักพบในคนชนบท ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะไม่มีอาการปรากฏ ในปี 2549 จังหวัดนราธิวาสมีผู้ป่วยโรคเท้าช้าง 118 ราย เป็นผู้ที่มีเชื้อพยาธิโรคเท้าช้างในกระแสเลือด และอยู่ในระยะแพร่เชื้อ 110 ราย ต้องกินยาต่อเนื่อง ผู้ป่วยกระจายอยู่ในพื้นที่ 7 อำเภอ มากที่สุดที่ ยี่งอ 37 ราย สุไหงปาดี 30 ราย ตากใบ 25 ราย เมือง 11 ราย เจาะไอร้อง 10 ราย สุไหงโก-ลก 4 ราย และบาเจาะ 1 ราย ในจำนวนนี้อายุน้อยที่สุด 2 ปี มากที่สุด 79 ปี โดย 8 รายมีขาบวมโต ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาจมีความพิการได้ ที่ผ่านมาพบผู้พิการจากโรคเท้าช้างแล้ว 26 ราย
ทั้งนี้หมู่บ้านที่พบผู้ป่วยแม้จะมีเพียง 1 ราย ต้องให้กินยาป้องกันทั้งหมู่บ้าน โดยให้กินทุกปี ในปี 2548 ป้องกันใน 79 หมู่บ้าน 7 อำเภอรวม 78,000 คน แต่ในปี 2549 ดำเนินการได้เพียง 35,000 คน หรือประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบทำให้มีหมู่บ้านที่เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 3 หมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาต่อไปอีก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2554 โดยในปีนี้ได้ปรับยุทธศาสตร์ โดยกระจายยาไปที่สถานีอนามัย รณรงค์จ่ายยาฟรีปีละครั้งพร้อมกันทั้งจังหวัดในเดือนพฤษภาคม 2550 และให้อสม.ช่วยค้นหาและติดตามผู้ป่วยในหมู่บ้าน สำหรับสถานการณ์ของโรคเท้าช้างในประเทศไทย ขณะนี้พบในบางหมู่บ้านใน 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ตาก กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราชและนราธิวาส มีผู้ที่ต้องกินยาป้องกันโรค 130,000 คน
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง โรคขาดสารอาหารในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบในจังหวัดนราธิวาส ว่า ผลการเฝ้าระวังล่าสุดในปี 2550 พบมีเด็กขาดสารอาหาร 1,772 คน คิดเป็นร้อยละ 3.22 ของเด็กวัยนี้ซึ่งมีทั้งหมด 59,047 คน ลดลงกว่าปี 2549 ร้อยละ 1.15 โดยเฉพาะเด็กในหมู่บ้านในโครงการพระราชดำริ ที่มี 26 หมู่บ้าน จาก 8 อำเภอ พบเด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2550 ซึ่งสูงเกินเป้าหมายกำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 7 พบมากที่สุดที่ อ.ตากใบ ร้อยละ 13 และอ.รือเสาะมีเกือบร้อยละ 8 ทั้งนี้เด็กที่ขาดสารอาหาร จะเจ็บป่วยง่ายกว่าเด็กกลุ่มอื่น โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคปอดบวม เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำและยังมีผลต่อสติปัญญาและพัฒนาการของเด็กด้วย
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กขาดสารอาหาร เกิดจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ พยาธิ การเลี้ยงดูและความเชื่อในการให้อาหารแก่เด็กที่ไม่ถูกต้อง โดยผลสำรวจความรู้ ความเชื่อของผู้ปกครองเด็กที่ขาดสารอาหารในหมู่บ้าน ที่อยู่รอบพระตำหนักทักษิณฯ เขตอ.เมืองนราธิวาส 100 คน พบว่า ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจไม่ถูกต้องว่าผักใบเขียวควรเริ่มให้เด็กรับประทานเมื่ออายุ 1 ขวบ ถึงร้อยละ 100 แม่มีความเข้าใจผิดว่ากะหล่ำปลีเป็นผักที่มีวิตามินเอสูงถึงร้อยละ 83 นอกจากนี้ ผู้ปกครองมีความเข้าใจว่าแป้งกวนใส่น้ำตาลเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด-6 เดือน ถึงร้อยละ 64 และแม่หลังคลอดมีความเชื่อว่าหากกินผักใบเขียวจะทำให้ไม่สบายตัวหรือที่เรียกว่าเย็น มากถึงร้อยละ 92 ซึ่งเป็นผลเสียต่อเด็กอย่างมาก
สำหรับโรคพยาธิ จากการสุ่มตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระเด็กนักเรียนทุกอำเภอเกือบ 4,000 คน พบมีไข่พยาธิร้อยละ 24 ที่พบมากที่สุดได้แก่ พยาธิไส้เดือนร้อยละ 16 รองลงมาคือพยาธิแส้ม้าร้อยละ 6 และพยาธิปากขอร้อยละ 1 โดยพยาธิไส้เดือน เป็นพยาธิตัวกลมที่ใหญ่ที่สุด ติดมาจากการกินผัก อาหารและน้ำดื่มที่มีไข่พยาธิปน พยาธิจะคอยแย่งอาหารที่ย่อยจากลำไส้เล็กแล้ว เมื่อตัวโตเต็มที่ ตัวเมียจะออกไข่ครั้งละ 200,000 ฟองต่อวัน เด็กที่มีพยาธิไส้เดือนมาก ร่างกายจะผ่ายผอม สติปัญญาเสื่อมร่างกายอ่อนแอ เจริญเติบโตไม่เท่าที่ควร ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไข โดยให้เจ้าหน้าที่ให้ความรู้ผู้ปกครองเด็ก และให้ยาถ่ายพยาธิแก่เด็กก่อนวัยเรียนและวัยเรียนครอบคลุมร้อยละ 99 และจะติดตามตรวจอุจจาระทุก 6 เดือนฟรี ใช้งบเกือบ 3 ล้านบาท
************************************** 8 กุมภาพันธ์ 2550
View 9
08/02/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ