คาดได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีสาธารณสุขทั้ง 11 ประเทศ
วันนี้ (7 กันยายน 2553) ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กทม.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคณะร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 28(28th Meeting of Ministers of Health of Countries of WHO South- East Asia Region : HMM) ว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุขรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 63 (63rd Session of WHO Regional Committee for South East-Asia : RC) ซึ่งการประชุมในช่วงเช้าเป็นการประชุมรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้แทนเข้าร่วม 11 ประเทศ ได้แก่บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์-เลสเต
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า หัวข้อสำคัญของการประชุม คือ การพิจารณาร่างปฏิญญากรุงเทพ ว่าด้วยความเป็นเมืองและสุขภาพ – สุขภาพเขตเมือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับการเดินหน้างานด้านสุขภาพ เพราะมีประชากรที่จะเข้ามาอยู่ในสังคมเมืองมีมากขึ้นเป็นลำดับ ภายใน ค.ศ.2030 ทั้งโลกจะมีคนเข้าอาศัยในเขตเมืองมากขึ้นถึงร้อยละ 67สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีคนมาอาศัยในเขตเมือง ได้แก่เขตเทศบาลมากขึ้นร้อยละ 36 การประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้ภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ การสาธารณสุขของประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคนจนในเขตเมือง ทั้งในส่วนการเพิ่มศักยภาพด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศและการร่วมมือพัฒนาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านสาธารณสุขของภูมิภาค เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาคนจน ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณาร่างดังกล่าวและให้ความเห็นชอบในบ่ายวันนี้
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สาระของร่างปฏิญญากรุงเทพ มี 12 ข้อ ดังนี้ 1.ให้ความสำคัญว่าความเป็นเมืองที่ขาดการวางแผนที่ดีเป็นปัญหาหลักของการสาธารณสุข 2.การประเมินผลกระทบด้านสาธารณสุขที่เกิดจากโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองและพื้นที่ปริมณฑล 3.การสนับสนุนการดำเนินงานแบบองค์รวมและสหสาขาวิชาจากทุกภาคส่วนทั้งจากหน่วยราชการ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.ส่งเสริมการลงทุนจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจน ลดช่องว่างและความไม่เท่าเทียมกันของประชาชนในเขตเมือง 5.กระจายทรัพยากรและการบริการให้ครอบคลุมแก่ประชากรในเขตเมืองทั้งหมด เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและกำจัดความไม่เสมอภาคในสังคม 6.ส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งและระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีสะอาดที่ช่วยในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชนในเขตเมือง รวมไปถึงลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ การเกิดอุบัติเหตุ และสุขภาพของประชาชนที่ดีขึ้น
7.เสริมสร้างศักยภาพในทุกระบบ โครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการในด้านที่เกี่ยวกับการเติบโตของเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายและความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะตามมา 8.สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการลงทุน เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในเขตเมืองและพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และกระตุ้นให้มีความเชื่อมโยงกันระหว่างประชาชนในเมืองต่างๆโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางสังคม 9.ส่งเสริมความเข้าใจของประชาชนเขตเมืองเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของความเป็นเมืองและแบ่งบันความรับผิดชอบเพื่อความสมดุลของทรัพยากรและบริการต่างๆ 10.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในการลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันและส่งเสริมสุขภาพประชาชนในสังคมเมืองและการพัฒนาเมืองน่าอยู่ 11.การวางแผนด้านการพัฒนาสุขภาพเมืองต้องคำนึงถึงสุขภาพทางกายโดยครอบคลุมสุขภาวะทางสังคม จิตใจ และอารมณ์ 12.ดำเนินการเป็นขั้นตอนในการหาสาเหตุของการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมืองและลดความกดดันในการย้ายถิ่นดังกล่าว
****************************************** 7 กันยายน 2553
View 11
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ