พร้อมหาขอสรุปให้เกิดปฏิญญากรุงเทพ ย้ำไทยดูแลประชาชนทั้งในเมืองและชนบท ด้านองค์การอนามัยโลกชมไทยแก้ปัญหาเด็กไอคิวต่ำ

          วันนี้ (7 กันยายน 2553) ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กทม.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 28 (28th Meeting of  Ministers of Health of Countries of  WHO South- East Asia Region : HMM)และการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 63  (63rd Session of WHO Regional Committee for South East-Asia : RC) ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ในวันนี้เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญของการประชุม จะมีการประกาศปฏิญญากรุงเทพ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองและสุขภาพ และองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการเดินหน้างานด้านสุขภาพในปีนี้   เนื่องจากประชากรมีการย้ายเข้ามาอยู่ในสังคมเมืองมากขึ้น และภายในปี 2030 ทั่วโลกจะมีคนที่อาศัยอยู่ในเมืองถึงร้อยละ 67 สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองถึงร้อยละ 36.11 ซึ่งคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก
               
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปอีกว่า การให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะคนจน สำหรับประเทศไทยนั้น ให้ความสำคัญทั้งคนจนในเขตเมือง และให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยกับประชาชนในชนบทควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นการดูแลคนไทยทั้งประเทศ ได้จัดทำโครงการต่างๆ เช่น การเพิ่มงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลรายหัวจาก 2,401 บาทในปี 2553 เป็น 2,546 บาทในปี 2554  เรื่องที่ 2 คือการให้ความสำคัญกับการขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมของผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่จำนวน 8.7 ล้านคน ครอบคลุมถึงครอบครัวและบุตรด้วย 3.จะเริ่มต้นรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทใน 5 โรคที่คนไทยป่วยกันมากที่สุด คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมทั้งอัมพาต อัมพฤกษ์ โดยให้ประชาชนลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็ม เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ออกกำลังกายให้มากขึ้น ลดการดื่มสุรา สูบบุหรี่ เป็นต้น
  
  
          นายจุรินทร์กล่าวต่ออีกว่า องค์การอนามัยโลกได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่จะเริ่มต้นโครงการพัฒนาไอคิวเด็กไทย เนื่องจากพบว่าเด็กไทยมีไอคิวต่ำลงเฉลี่ยอยู่ที่ 91 จุด ซึ่งไอคิวมาตรฐานอยู่ที่ 90-110 จุด โดยผลสำรวจขององค์การอนามัยโลกกับองค์การยูนิเซฟ พบว่าเด็กไทยขาดสารไอโอดีน ในการพัฒนาไอคิวเด็กไทยจะเริ่มต้นที่การให้ไอโอดีนหญิงตั้งครรภ์ทุกคน เริ่มต้น 1 ตุลาคม 2553 นี้ รวมทั้งจะออกประกาศกระทรวงบังคับให้เกลือบริโภคที่จำหน่ายในประเทศทั้งหมด ต้องเสริมไอโอดีน รวมถึงน้ำปลา ซีอิ๊ว ซ๊อสต่างๆด้วย เพื่อให้คนไทยไม่ตกอยู่ในภาวะพร่องไอโอดีนที่จะนำไปสู่ภาวะไอคิวตกต่ำ คาดว่าจะสามารถลงนามในประกาศฯภายในเดือนกันยายนนี้ และจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนตุลาคม 2553        
************************************* 7 กันยายน 2553


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ