รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค เข้าร่วมทีมลงพื้นที่ถนนข้าวสาร ประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนให้นักท่องเที่ยวป้องกันตนเองจากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และป้องกันความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนโดยรอบและนักท่องเที่ยว

       วานนี้ (23 กรกฎาคม 2568) นายชัยชนะ เดชเดโช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รักษาการในตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) พร้อมด้วยผู้บริหารจากกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กองโรคติดต่อทั่วไป และเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ “ท่องเที่ยวข้าวสารอย่างมีสติ ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” โดยเน้นให้นักท่องเที่ยวบริเวณถนนข้าวสาร เกิดความตระหนักรู้ต่อการป้องกันตนเอง จากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

       นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวว่า ถนนข้าวสารถือเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่ต้องการสัมผัสสีสันยามค่ำคืนของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างมีความสุขและปลอดภัย กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวทุกคน ตระหนักถึงการป้องกันตนเองจากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุบนท้องท้องถนน ที่มีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ สถานประกอบการร้านค้า สถานบันเทิงและสถานบริการ ควรจัดหาเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจชนิดตรวจคัดกรอง (Screening) ไว้ให้บริการลูกค้าที่มาใช้บริการ เพื่อประเมินอาการมึนเมาก่อนขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้า สถานบันเทิงและสถานบริการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กำหนด และไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ที่โปรแกรม TAS โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ http://tas.go.th หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านสุขภาพที่ควรตระหนัก โดยเฉพาะการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ หนองใน และซิฟิลิส ซึ่งยังคงพบได้บ่อยในกลุ่มนักท่องเที่ยว การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การใส่ถุงยางอนามัยและการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันตนเองและผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       ด้านนายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและรักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งต่อตัวของผู้สูบเองและผู้ไม่สูบที่อยู่ใกล้ชิดกับคนสูบ ซึ่งเรียกว่า “การได้รับควันบุหรี่มือสอง” ดังนั้น เพื่อคุ้มครองสุขภาพของนักท่องเที่ยวและประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง กฎหมายจึงกำหนดให้สถานที่สาธารณะเป็นเขตปลอดบุหรี่ ฉะนั้น ภายในบริเวณถนนข้าวสาร ตลอดทั้งภายในสถานประกอบการ สถานบริการ ร้านค้า และสถานบันเทิงจึงเป็นสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าตามกฎหมาย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเจ้าของสถานที่ดำเนินการจัดเขตปลอดบุหรี่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยแสดงเครื่องหมายและสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ ในบริเวณทางเข้า - ออกหลัก ของสถานที่ และภายในของสถานที่ พร้อมทั้ง ประชาสัมพันธ์หรือแจ้งเตือนผู้ใช้บริการว่าสถานที่นั้นเป็นเขตปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และหากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตามร้านค้า หรือช่องทางออนไลน์ สามารถแจ้งเบาะแสเพื่อดำเนินคดี ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

**************************

ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 24 กรกฎาคม 2568



   
   


View 26    24/07/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ