นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมแถลงข่าวท่ามกลางกระแสความกังวลเรื่อง 'โรคแอนแทรกซ์' ที่กำลังแพร่สะพัดในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โดยนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำทีม​ร่วมกับหัวหน้าส่วน​ราชการ  ว่าที่ร้อยตรี รวยรุ่ง ใครบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายสามารถ อ่อนสองชั้น ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เปิดเวทีแถลงข่าวสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม ณ ร้านอาหารเนื้อดี ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เข้าครัวโชว์ฝีมือปรุงสเต็กเนื้อโคขุนพรีเมียม พร้อมยืนยัน “เนื้อโคขุนนครพนม ปลอดภัยจากเชื้อแอนแทรกซ์”

       นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ที่จังหวัดมุกดาหาร ที่เป็นกระแสในสื่อโซเชียล และประชาชนให้ความสนใจ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนคร ร่วมกับเครือข่ายปศุสัตว์ในพื้นที่ และทีมเครือข่ายเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ ได้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเมื่อทราบเหตุการณ์และพบเหตุผู้ป่วยสงสัยคล้ายกับเป็นผู้ป่วย ได้ดำเนินการลงสอบสวนโรคเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งสถานการณ์โรคล่าสุด (วันที่ 8 พฤษภาคม 2568) ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยัน โดยพบผู้ป่วยสงสัยโรคแอนแทกซ์ 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 55 ปี อาชีพเกษตรกร ปฏิเสธโรคประจำตัว มีตุ่มน้ำใสบริเวณแขนขวา แตกตรงกลางบุ๋มแผลมีสีดำคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แผลไม่บวม ไม่คัน ไม่มีอาการทางระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นสงสัยโรคแอนแทรกซ์ จึงเก็บตัวอย่างตุ่มน้ำใสจากผิวหนัง และ Hemoculture ส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลนครพนม และสถาบันบำราศนราดูร ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคจังหวัดนครพนม อำเภอธาตุพนม ลงพื้นที่ดำเนินการ เบื้องต้น ไม่พบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายตามนิยาม การค้นหาผู้สัมผัสโรค พบผู้สัมผัสร่วมสัมผัส 2 คน ไม่มีอาการป่วย และสัตว์ในพื้นที่ไม่พบความผิดปกติ หรือตายไม่ทราบสาเหตุ

       "ฝากถึงพี่น้องประชาชน ควรระมัดระวังและสังเกตอาการสัตว์ที่เลี้ยง โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ แกะ หากมีอาการป่วยผิดปกติ หรือสัตว์ตาย ไม่ควรชำแหละเนื้อ แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อเข้ามาตรวจสอบ หรือหากมีประวัติสัมผัสสัตว์และมีอาการป่วย ควรรีบมาพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัส เช่น มีประวัติการชำแหละและสัมผัสสัตว์ หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่สุก สำหรับการป้องกัน แนะนำให้ใส่ถุงมือในการชำแหละหรือปรุงเนื้อสัตว์ และล้างมือให้สะอาดจะช่วยจะลดการปนเปื้อน ส่วนอาหารควรปรุงให้สุก เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้และได้มาตรฐาน หากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ หรือกรณีสัมผัสและไม่มีอาการป่วย แพทย์จะมีการให้ยาในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรง ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติหลังการสัมผัสสัตว์ หรือสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาล หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน"

 

Facebook: งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม

https://www.facebook.com/share/p/19AwyShMCx/

 

Facebook: R8WAY_Con.unication

https://www.facebook.com/share/p/1AX3rBf84p/

 

Facebook: นครพนมทูเดย์

https://www.facebook.com/share/p/16gMznsTiM/

 

Facebook: แจ้งข่าวนครพนม

https://www.facebook.com/share/p/16MmsCeYLC/

 

Facebook: โอเค-นครฯ

https://www.facebook.com/share/p/14xiVJ3FK2z/



   
   


View 32    09/05/2568   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม