กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ตรวจสอบดำเนินคดีร้านขาย SNUS และนิโคตินถุง ผ่านออนไลน์ กลางกรุงเทพมหานคร
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
- 25 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจง นโยบายการนำสมุนไพรไทยมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน เป็นการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ดำเนินการตามความสมัครใจ เพื่อสร้างระบบสาธารณสุข ที่แข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว และเป็นการขับเคลื่อนภูมิปัญญาไทยสู่ระดับสากล
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า จากข้อมูลปีงบประมาณ 2567 พบว่า มูลค่าการใช้ยาแผนปัจจุบันในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐรวมทั้งสิ้น 70,543 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นยาสมุนไพร 1,560 ล้านบาท คิดเป็น 2.21% จากข้อมูลดังกล่าว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทยก่อนไปหาหมอ” กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลของรัฐเพิ่มมากขึ้น โดยสนับสนุนให้แพทย์และเภสัชกรจ่ายยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นใน 10 กลุ่มโรคที่พบบ่อย เป็นยาสมุนไพร 32 รายการ ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่ใช้บ่อย มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพรใน 10 กลุ่มโรคข้างต้น (CPG) เพื่อใช้ยาสมุนไพรอย่างถูกต้องและปลอดภัย
การส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน เป็นการดำเนินการตามความสมัครใจของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ใช่นโยบายบังคับแต่อย่างใด โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกยาสมุนไพรอย่างรอบคอบผ่านคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (PTC) ของแต่ละโรงพยาบาล สำหรับยาสมุนไพรที่นำมาใช้ทดแทน ได้แก่ ยาครีมไพล ใช้แทนยานวด กลุ่ม Analgesic balm สำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ยาแก้ไอมะขามป้อม หรือ ยาประสะมะแว้ง ใช้ทดแทนยาแก้ไอ M.tussis เพื่อบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และยามะขามแขก ใช้ทดแทนยาระบาย บิซาโคดิล (Bisacodyl) สำหรับอาการท้องผูก แต่ยังมียาแผนปัจจุบันตัวอื่น สามารถเลือกใช้แทนยาแผนปัจจุบันที่ถูกคัดออก จากโรงพยาบาลได้ เช่น ยา diclofenac gel ในกลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยา Ambroxol หรือ Bromhexine ในกลุ่มยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ยา lactulose หรือ Milk of Magnesia ในกลุ่มยาระบาย ซึ่งไม่กระทบต่อการรักษาผู้ป่วย ของแพทย์แผนปัจจุบันที่ไม่ประสงค์ใช้ยาสมุนไพร
นอกจากนี้ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างแพทย์ปัจจุบันและแพทย์แผนไทย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินการศึกษา วิจัย ร่วมกับ กรมการแพทย์ และราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เพื่อคัดเลือกยาสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอาการโรคเพิ่มเติมจาก 10 กลุ่มอาการเดิม ในการสร้างข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้ยาสมุนไพร
นายแพทย์สมฤกษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเชิญชวนบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน หันมาใช้ยาสมุนไพร เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสมุนไพรของประเทศทั้งระบบ
……………………………………………………..29 เมษายน 2568..............................................................