การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น ครั้งที่ 2/2568 ในวันที่ 25 เมษายน 2568 เวลา 09.00 - 13.30 น. นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7 ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น แจ้งที่ประชุมทราบ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ให้เข้าพบและรายงานสถานการณ์การแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่นต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น ดังนี้

1. การปฏิบัติในโรงพยาบาลขอนแก่นให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

2. มติและแนวทางที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น มีมติและแนวทางการดำเนินงานอย่างไร ผู้อำนวยการและทีมบริหารโรงพยาบาลขอนแก่น ต้องดำเนินการให้ครบถ้วน และจะมีการกำกับติดตามเป็นระยะ

3. เน้นย้ำการสื่อสาร สร้างการรับรู้ รับทราบข้อมูล สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของบุคลากรทั้งโรงพยาบาลขอนแก่น และจัดทำ Dashboard เพื่อสื่อสารสถานการณ์ทางการเงินการคลังให้กับบุคลากรโรงพยาบาลขอนแก่นและผู้ที่สนใจทราบ อัพเดทข้อมูลอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้ สถานะเงินบำรุงคงเหลือ เจ้าหนี้ค้างชำระ เงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้สิน รายรับและรายจ่ายเงินบำรุงประจำเดือนและยอดสะสม เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7

      นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7 ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น ได้สรุปให้ทราบถึงกลไกการแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการติดตามสถานการณ์และวางนโยบายแก้ไขปัญหา คณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น และคณะทำงานตรวจเยี่ยมเสริมพลังด้านการเงินการคลังหน่วยบริการที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กองบริหารการคลัง และกลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้คณะทำงานตรวจเยี่ยมเสริมพลังด้านการเงินการคลังหน่วยบริการที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน เขตสุขภาพที่ 7 รายงานผลการตรวจเยี่ยมให้ทราบเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค  แต่กลไกสำคัญที่สุดคือคณะกรรมการและบุคลากรภายในโรงพยาบาลขอยแก่นเองที่ต้องดำเนินการตามแนวทางแก้ไขปัญหา

       จากนั้นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น ได้ร่วมกันรับฟังรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น ครั้งที่ 1/2568 และได้หารือร่วมกันและมีมติให้โรงพยาบาลขอนแก่น ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ขอให้มีการจัดประชุมทั่วทั้งองค์กร เพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้ รับทราบข้อมูล สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของบุคลากรทั้งโรงพยาบาลขอนแก่น และจัดทำ Dashboard เพื่อสื่อสารสถานการณ์ทางการเงินการคลังให้กับบุคลากรและผู้ที่สนใจทราบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ สถานะเงินบำรุงคงเหลือ เจ้าหนี้ค้างชำระ เงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้สิน รายรับและรายจ่ายเงินบำรุงประจำเดือนและยอดสะสม เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์และ Social Media ของโรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 อัพเดทข้อมูลอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

 2. ขอให้โรงพยาบาลขอนแก่น ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานตรวจเยี่ยมเสริมพลังด้านการเงินการคลังหน่วยบริการที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน เขตสุขภาพที่ 7

 3. กำหนดเป้าหมาย 6 เดือน การแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินการคลังของโรงพยาบาลขอนแก่น หยุดการขาดทุนกระแสเงินสด(เงินบำรุง) หยุดการเพิ่มขึ้นของหนี้ค้างชำระ มูลค่าคงคลังเหมาะสม (คงคลังเฉลี่ยไม่เกินหนึ่งเดือน)

 4. เห็นชอบแผนเงินบำรุงของโรงพยาบาลขอนแก่น รายรับเงินบำรุง 3,100 ล้านบาท (เพิ่มประมาณ10% จากปี 2567) รายจ่ายเงินบำรุง (3,070,000,000) โดยให้เสนอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พิจารณาอนุมัติตามระเบียบ

      ด้านการเพิ่มรายได้ให้ดำเนินการตามแนวทางที่คณะทำงานตรวจเยี่ยมเสริมพลังด้านการเงินการคลังหน่วยบริการที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน เขตสุขภาพที่ 7

      ด้านรายจ่ายเน้นย้ำให้มีการควบคุมการจัดทำแผนการจัดซื้อ แผนการใช้ทรัพยากร (material cost) ให้สอดคล้องตามแผนเงินบำรุง และผู้บริหารโรงพยาบาลขอนแก่นต้องกำกับติดตามให้ดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด และจะมีการเชิญกลุ่มตรวจสอบภายในกระทรวงสาธารณสุขมาตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำการวางระบบควบคุมภายต่อไป

5. ให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร (material cost) ผ่านกลไกของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (PTC) คณะกรรมการพัฒนาการใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสมเหตุผล (RLU) และคณะกรรมการเวชภัณฑ์มิใช่ยาและวัสดุการแพทย์ โดยกรรมการแต่ละชุดให้มีการวิเคราะห์ 20 อันดับแรกที่มีมูลค่าการใช้สูงสุดและกำหนดมาตรการแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพ  แล้วนำมาเสนอให้ทราบด้วยในการประชุมครั้งต่อไป พร้อมทั้งจัดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม การใช้จ่ายในภาพรวมของโรงพยาบาล

 6. แก้ไขสภาพคล่องเร่งด่วน โดยการเร่งรัดเรียกเก็บลูกหนี้จากหน่วยบริการอื่นภายในจังหวัดผ่านคณะกรรมการวางแผนและประเมินผลจังหวัด (กวป.) เร่งรัดเรียกเก็บลูกหนี้ภายนอกจังหวัดผ่านคณะกรรมการบริหารเขตสุขภาพที่ 7

 7. ให้โรงพยาบาลขอนแก่นหารือภายในเรื่องการปรับระบบบริการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลขอนแก่น หากมีแนวทางปฏิบัติชัดเจนแล้วให้จัดทำประกาศแจ้งให้บุคลากรและผู้รับบริการทราบด้วย กรณีเกี่ยวข้องกับหน่วยบริการอื่นๆ ให้จัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับได้แก่ คณะกรรมการวางแผนและประเมินผลจังหวัดขอนแก่น (กวป.) และคณะกรรมการบริหารเขตสุขภาพที่ 7 เพื่อให้หน่วยบริการภายในจังหวัดและเขตทราบ และสนับสนุนแนวทางดังกล่าว



   
   


View 119    28/04/2568   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักงานเขตสุขภาพที่ 7