"Electronic Nose" นวัตกรรมตรวจวัดกลิ่น! เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี กรมอนามัย ร่วม MOU กรมควบคุมมลพิษ และ 4 หน่วยงานรัฐ - เอกชน ยกระดับจัดการปัญหากลิ่นเหม็น
- กรมอนามัย
- 22 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะใช้ ศาสตร์ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไล่ยุง ชู 4 สมุนไพร ได้แก่ ตะไคร้หอม ยี่หร่าหรือโหระพาช้าง สะระแหน่ และ มะกรูด พร้อมด้วย 5 ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สเปรย์น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม เทียนหอมสมุนไพร ธูปสมุนไพร โลชั่นกันยุงสมุนไพร และ สติกเกอร์กันยุงจากสมุนไพร ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ห่างไกลโรคที่มากับยุง เนื่องในวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาทางสาธารณสุขของไทย โดยสมุนไพรไทยหลายชนิด มีสรรพคุณในการไล่ยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่มีสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ได้แก่ ตะไคร้หอม ให้นำมาทุบพอหยาบๆ ได้กลิ่นหอม ยี่หร่า หรือ โหระพาช้าง ขยี้จนได้กลิ่นน้ำมันหอมระเหย สะระแหน่ บดหรือขยี้ใบให้มีกลิ่น หรือนำมาทาบริเวณผิวหนัง และ มะกรูด หั่นผิวมะกรูด นำไปวางตามมุมอับ หรือ บริเวณที่มียุง
สำหรับ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุง ได้แก่ สเปรย์น้ำมันหอมระเหย ตะไคร้หอม ที่มีฤทธิ์ไล่ยุงได้นาน 2-3 ชั่วโมง เทียนหอมสมุนไพรไล่ยุง ธูปสมุนไพรไล่ยุง โลชั่นกันยุงสมุนไพร และ สติกเกอร์กันยุงจากสมุนไพร โดยกลิ่นของสมุนไพรจะช่วยในการป้องกันยุงไม่ให้มากัดได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงดังกล่าวนี้ สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป อย่างไรก็ตาม การป้องกันยุงด้วยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งมาตรการสำคัญที่ควรให้ความสำคัญ คือ ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ยุงชุกชุม เป็นต้น
ทางด้าน ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม มีสาร citronella สามารถนำมาทำเป็นสเปรย์ฉีดตามบ้านหรือทาผิวเพื่อป้องกันยุงกัด น้ำมันหอมระเหยจากใบยี่หร่า มีสรรพคุณไล่ยุงได้ดี น้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ เช่น Menthol และ Limonene สามารถนำใบมาบดขยี้ให้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยกระจายออกมา แล้วทาลงบนผิวได้โดยตรง แต่ควรระวังการใช้กับเด็ก หรือ ผู้ที่ผิวบอบบางแพ้ง่าย หรือจะนำไปวางไว้ในบริเวณตามมุมอับหรือบริเวณที่มียุง ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด ซึ่งมีสารสำคัญ เช่น Citronellal, Limonene และ β-pinene จะมีฤทธิ์ในการรบกวนประสาทรับกลิ่นของยุง
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทย ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่ กรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือ ช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM
………………………………………………………. 25 เมษายน 2568................................................................