วันนี้ (22 เมษายน 2568) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “เมษาใส่ใจ ระวังโรคและภัย หลังสงกรานต์” พร้อมแนะวิธีดูแลตนเอง

       โควิด 19 วันที่ 1 มกราคม - 10 เมษายน 2568 ผู้ป่วยสะสม 12,505 ราย อัตราป่วยสูงสุด คือ อายุ 0 - 4 ปี มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ส่วนใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 7 ราย ปี 2568 ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในปี 2568 เป็นสายพันธ์ XEC

       โรคไข้หวัดใหญ่ วันที่ 1 มกราคม - 11 เมษายน 2568 ผู้ป่วยสะสม 279,328 ราย ผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี  เสียชีวิต 33 ราย มีอายุระหว่าง 4 - 88 ปี มีโรคประจำตัว 18 ราย สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดเป็น A/H1N1 (pmd09) การระบาดเป็นกลุ่มก้อน ส่วนใหญ่พบในโรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ บ้านพักคนชรา ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงแต่ยังสูงกว่าปี 2567

       โรคปอดอักเสบ วันที่ 1 มกราคม - 11 เมษายน 2568 ผู้ป่วยสะสม 147,339 ราย เสียชีวิต 206 ราย อัตราป่วยมากที่สุด คือ อายุ 0 - 4 ปี แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงแต่ยังสูงกว่าปี 2567

       แนะประชาชน สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หากป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ แนะนำ 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลของรัฐ ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568

       โรคอาหารเป็นพิษ วันที่ 1 มกราคม - 10 เมษายน 2568 ผู้ป่วยสะสม 47,006 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต อัตราป่วยสูงสุด คือ อายุ 5 - 9 ปี แนวโน้มสูงกว่าปี 2567 ในช่วงเวลาเดียวกัน

       โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน วันที่ 1 มกราคม - 10 เมษายน 2568 มีผู้ป่วยสะสม 185,436 ราย เสียชีวิต 3 ราย อัตราป่วยสูงสุด คือ อายุ 0 - 4 ปี มีเหตุการณ์การระบาด จำนวน  44 เหตุการณ์ โดยเชื้อก่อโรคที่พบมากที่สุด คือ เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (E.coli) รองลงมาคือ Norovirus, Rotavirus, Bacillus cereus, Aeromonas spp. และ Plesiomonas spp.

       แนะประชาชน ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด เลือกดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. ฝาปิดสนิท บรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยรั่ว เลือกบริโภคน้ำแข็งที่สะอาด บรรจุถุงต้องไม่มีรอยรั่วฉีกขาด มีเครื่องหมาย อย. และมีข้อความ “น้ำแข็งใช้รับประทานได้”

       ไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ Neisseria meningitidis ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในสมองและไขสันหลัง รวมถึงอวัยวะอื่นๆ สามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากการไอ หรือ จาม ในปี 2568 มีผู้ป่วยสะสม 13 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยัน 5 ราย สงสัย 8 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 3 ราย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็นเด็ก อายุ 4 ปี มีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น ผื่น คอแข็ง มีอาการเพ้อ และเมื่อวันที่ 4 เมษายน ได้รับรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายโรคไข้กาฬหลังแอ่นเสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยอายุ 56 ปี การป้องกัน มาตราการเช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดและมีการสัมผัสใกล้ชิด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือให้สะอาดและปิดปากเมื่อไอหรือจาม หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง หรือมีผื่น ควรไปพบแพทย์ทันที การรักษา พบแพทย์และได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทันทีที่สงสัยหรือยืนยัน

       โรคไอกรน วันที่ 1 มกราคม - 10 เมษายน 2568 มีผู้ป่วยยืนยัน 44 ราย เสียชีวิต 1 ราย มีอายุ 2 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี แนะนำ พาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนรวมตามกำหนด โดยมีการฉีดอายุ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน, 4 - 6 ปี จากนั้นควรให้ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 11 - 12 ปี และกระตุ้นในวัยผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 ครั้ง การป้องกันการแพร่ระบาด ใช้มาตรการเช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หากมีอาการสงสัยไอกรน เช่น ไอเป็นชุดๆ มีเสียง “วู้บ” หลังไอ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

       โรคคอตีบ วันที่ 1 มกราคม - 10 เมษายน 2568 จำนวนผู้ป่วยสงสัย 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย มีอายุ 21 ปี ไม่เคยได้รับวัคซีน แนะนำ พาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนรวมตามกำหนด โดยมีการฉีดอายุ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน, 4 - 6 ปี จากนั้นควรให้ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 11 - 12 ปี การป้องกันการแพร่ระบาด ใช้มาตรการเช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

       โรคลิชมาเนีย เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนีย มีริ้นฝอยทรายเป็นพาหะนำโรค ตั้งแต่ปี 2539 - 2568 พบรายงานผู้ป่วยโรคลิชมาเนียในประเทศไทย 45 ราย เสียชีวิต 7 ราย ในปี 2568 พบผู้ป่วยโรคลิชมาเนีย จำนวน 2 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย แนะประชาชน ทายากันยุง และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าไปในป่า หรือพื้นที่ชื้นแฉะควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้าน ไม่ให้มีกองไม้/กองฝืน เศษใบไม้ทับถม และพื้นที่ชื้นแฉะ

       โรคจากต่างประเทศ โรคไข้หวัดนก กัมพูชา ปี 2566 - 2567 มีผู้ป่วยสะสม 16 ราย ผู้เสียชีวิต 6 ราย ปี 2568 พบผู้ป่วย 3 ราย รวมรายล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 จำนวน 1 ราย สหรัฐอเมริกา ปี 2567 -2568 มีผู้ป่วยสะสม 70 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 1 ราย อินเดีย ปี 2568 พบเด็กเสียชีวิตติดเชื้อไข้หวัดนก A(H5N1) เป็นเด็กหญิงอายุ 2 ปี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เริ่มแสดงอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และเสียชีวิตวันที่ 15 มีนาคม 2568 เม็กซิโก ปี 2568 พบเด็กติดเชื้อไข้หวัดนก A(H5N1) เป็นเพศหญิงอายุ 3 ปี ติดเชื้อ A(H5N1) รายแรก โดยมีอาการรุนแรง และไม่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์หรือฟาร์มสัตว์ปีก เวียดนาม ปี 2568 พบเด็กอายุ 8 ปี ป่วยไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไข้หวัดนก A(H5N1) นอกจากนี้ในปี 2568 ยังพบโรคไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ แมว สุนัข และแกะ ในหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา อินเดีย, ปากีสถาน, ไต้หวัน, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์สัตว์, อินเดีย, ปากีสถาน, และไต้หวัน แนะประชาชน รับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกรหรือโคนม ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก สุกร และโคนม หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ สำหรับประชาชนที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดต้องหมั่นติดตามข่าวสารการระบาดของพื้นที่ที่จะเดินทางไป ทำประกันสุขภาพสำหรับการเดินทาง กรณีเดินทางกลับจากต่างประเทศหากมีอาการป่วยคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ และประวัติการเดินทาง

       โรคที่เป็นประเด็นสนใจในสื่อโซเชียล สารหนูปนเปื้อนในพื้นที่แม่น้ำกก สารหนูเป็นธาตุกึ่งโลหะที่มีลักษณะเป็นของแข็ง สีเทา พบตามธรรมชาติ เช่น ในดิน หิน แร่ และในแหล่งน้ำ และกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมืองแร่ การเกษตร และอุตสาหกรรมโลหะ เข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำหรืออาหารที่มีสารหนูปนเปื้อน ส่วนการสัมผัสทางผิวหนังจะเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก หากได้รับสารหนูติดต่อกัน 5 ปี อาจเริ่มแสดงอาการให้เห็นทางผิวหนัง ได้แก่ ผิวหนังเปลี่ยนสี เกิดแผลที่ผิวหนัง ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและส้นเท้าแข็ง และอาจเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง แนะประชาชน ติดตามประกาศจากหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด กิจกรรม เช่น ล่องแพ พายเรือ สามารถดำเนินการได้ งดดื่มน้ำ และนำน้ำมาประกอบอาหาร หากมีอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองตา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชาปลายมือ/เท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที

       เอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ปี 2566 จำนวน 9,083 คน พบว่าเกือบครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี อัตราป่วยโรคซิฟิลิส ปี 2567 ทุกกลุ่มอายุเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า จากปี 2561 กลุ่มอายุ 15 - 24 ปี เพิ่มขึ้น 4 เท่า อัตราป่วยโรคหนองใน ปี 2567 ทุกกลุ่มอายุ เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า จากปี 2561 กลุ่มอายุ 15 - 24 ปี เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า แนวโน้มอัตราป่วยโรคซิฟิลิสและโรคหนองในอาจเพิ่มสูงขึ้นในปี 2568 แนะประชาชน ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งกับทุกคน ทุกช่องทาง หากมีความเสี่ยงแนะนำให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีควบคู่กับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ เข้าสู่ระบบรักษาทันที กินยาเร็วและต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสเกิดความรุนแรง และการถ่ายทอดเชื้อสู่คู่เพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ แนะนำให้ปรึกษา และรับการตรวจที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ห้ามซื้อยาทานเอง

       การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากอากาศร้อน ปี 2568 เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 จากรายงาน การเจ็บป่วย ผ่านระบบรายงานแพลตฟอร์มเฝ้าระวังโรคดิจิทัล Digital Disease Surveillance (DDS) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยจำนวน 34 ราย อายุระหว่าง 20 - 79 ปี ด้วยอาการเพลียหมดสติจากความร้อน ตะคริวแดด ลมแดด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรม มีความเสี่ยงจากการทำงานกลางแจ้ง แนะประชาชน งดออกกำลังกาย หรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ดื่มน้ำบ่อยๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ

       อุบัติเหตุจากการจมน้ำ ปี 2558 - 2567 คนไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ย 3,687 คน/ปี เฉลี่ยวันละ 10 คน โดยช่วงฤดูร้อน (มีนาคม - พฤษภาคม) มีคนจมน้ำเฉลี่ย 963 คน เดือนเมษายนมีจำนวนสูงที่สุด (327 คน) กลุ่มอายุที่เสียชีวิตสูงสุด คือ 45 - 59 ปี (84 คน) รองลงมาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (70 คน) สาเหตุเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด รองลงมา คือ ประกอบอาชีพหาปลา หาหอย เก็บผัก แหล่งน้ำที่มีการจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รองลงมา คือ เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ มีการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนลงน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เกือบทั้งหมดของคนที่จมน้ำไม่สวมเสื้อชูชีพ แนะประชาชน สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ ปฏิบัติตามป้ายเตือน งดดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออยูใกล้แหล่งน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ

       ประเด็นเพิ่มเติม วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 25 เมษายน เป็นวันมาลาเรียโลก และกำหนดให้ประเทศสมาชิกปลอดโรคไข้มาลาเรียภายในปี 2573 โดยในปี 2568 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 1,747 ราย น้อยกว่าปี 2567 อยู่ 1.69 เท่า (2,946 ราย) ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยสูงบริเวณพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตก สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบสูงในช่วงฤดูฝน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน (25 - 44 ปี) อาชีพเกษตรกรรม ซึ่งชนิดของเชื้อที่พบมากสุด คือ P.vivax รองลงมา คือ P.falciparum แนะนำประชาชน นอนในมุ้งทุกคืน หรือใช้มุ้งชุบน้ำยา ทายากันยุงบริเวณผิวหนังนอกเสื้อผ้า ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด นอนในบ้านหรือกระท่อมที่ได้รับการพ่นสารเคมีติดข้างฝา หากค้างคืนในป่าเขา ไร่นา ต้องนอนในมุ้ง หรือหามุ้งคลุมเปล พร้อมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด และทายากันยุง

       World Immunization Week 2025 WHO ได้รณรงค์สัปดาห์การฉีดวัคซีนทั่วโลก ในวันที่ 24 - 30 เมษายน สำหรับประเทศไทยได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนด เพื่อป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงการตระหนักถึงวัคซีนที่จำเป็นในบ้างกลุ่ม โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ในนักเรียนหญิง ป.5 และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้แก่ 7 กลุ่มเสี่ยง คือ 1.หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 7.ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคที่สามารถป้องกัน หรือลดความรุนแรงลงได้ด้วยวัคซีน


ตรวจจับเร็ว ตอบโต้ทัน ป้องกันได้

 

*************************
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
วันที่ 22 เมษายน 2568



   
   


View 14    22/04/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ