เหนือ-อีสาน ยังอ่วมฝุ่น กรมอนามัย เร่งลงพื้นที่ แนะวิธีทำห้องปลอดฝุ่น-มุ้งสู้ฝุ่น
- กรมอนามัย
- 35 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระวังการรับประทานเห็ดป่า และเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอาจเป็น “เห็ดพิษ” เสี่ยงเสียชีวิตได้ แนะ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”
วันนี้ (3 เมษายน 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค มีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากช่วงนี้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกทำให้หลายพื้นที่เริ่มมีเห็ดป่า หรือเห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ โดยเฉพาะเห็ดในระยะดอกตูม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่าหากไม่มีความรู้ความชำนาญ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารจนเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่พบบ่อย คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก เห็ดพิษชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับเห็ดระโงกขาว หรือเห็ดไข่ห่านซึ่งเป็นเห็ดกินได้ แตกต่างกันที่เห็ดระโงกขาวกินได้จะมีรอยขีดสั้นๆ เหมือนกับซี่หวีที่ผิวรอบขอบหมวก เมื่อผ่าก้านจะเห็นว่าก้านกลวง เห็ดระโงกพบมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม มักพบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าที่มีลักษณะค่อนข้างโปร่ง มีแสงแดดส่องถึงพื้นล่าง และที่สำคัญคือมีไม้วงศ์ยางนา เช่น ยางนา ตะเคียน กระบาก รัง พะยอม หลังกินเห็ดระโงกพิษมักไม่เกิดอาการทันทีแต่จะมีอาการหลัง 4 - 6 ชั่วโมงไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์แม้อาการจะดีขึ้นในช่วงแรกก็ตาม เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที พิษอาจทำลายตับและทำให้เสียชีวิตได้แม้กินเพียงดอกเดียว เห็ดถ่านเลือด ดอกจะมีขนาดใหญ่และหนา หลังดอกมีสีดำเล็กน้อย เมื่อหักก้านเนื้อสีขาว จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีแดงชาวบ้านจึงเรียกว่าเห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายเห็ดถ่านใหญ่และเห็ดถ่านเล็ก พบมากช่วงเดือนกรกฎาคมมักขึ้นใต้ต้นเหียง (ซาด) และต้นพะยอม หากรับประทานเข้าไปภายใน 2 ชั่วโมงจะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลังจาก 6 ชั่วโมง จะมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย จนกระทั่งตับและไตวายและเสียชีวิตได้
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เล็กน้อย ได้แก่ วิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวจนถึงอาการรุนแรง ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากที่บ้านมีผงถ่านกัมมันต์หรือผงคาร์บอนให้รีบกินเพื่อดูดซับพิษและจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป ที่สำคัญควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน เช่น การล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพราะอาจทำให้สำลัก เกิดการติดเชื้อ เกิดแผลในคอและช่องปาก ความดันต่ำหรือระดับเกลือแร่ผิดปกติจากการอาเจียนที่มากเกินไป เนื่องจากพิษจากเห็ดทำให้อาเจียนมากอยู่แล้ว
กรมควบคุมโรคมีความห่วงใย จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเก็บและกินเห็ดป่า เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่ากินได้ ไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมีเนื่องจากเห็ดจะดูดซับพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด ไม่กินเห็ดดิบ เช่น เห็ดน้ำหมาก หรือกินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้ พึงระลึกเสมอว่าเห็ดพิษทุกชนิดแม้ทำให้สุกด้วยความร้อนก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ และที่สำคัญ คือ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
***************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 3 เมษายน 2568