รายงานสถานการณ์การช่วยเหลือผู้ป่วย

กรณีเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว

ฉบับที่ 1

จากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ซึ่งเกิดความเสียหายบางพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568   กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้มีการช่วยเหลือประชาชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมการแพทย์จึงได้มีการเร่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหว  (EOC) โดยมีอธิบดีกรมการแพทย์เป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ดำเนินการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ตึกถล่มบริเวณบางซื่อ เขตจตุจักร มีผู้ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเป็นจำนวนนมากนั้น ทีม MERT(Medical Emergency Response Team) กรมการแพทย์และหน่วยงานเครือข่าย ได้ลงพื้นที่ทันทีหลังจากเกิดเหตุ พร้อมตั้งหน่วยแพทย์สนาม (ER สนาม) ซึ่งประกอบด้วย ทีม MERT โดยมีกรมการแพทย์เป็น Medical Commander โดยมีบุคลากรจาก โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลราชวิถี 2 โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โรงพยาบาลธนบรี บำรุงเมือง โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลค่ายสุรนารี ทีมกู้ชีพเอราวัณ กทม.ทีมกู้ชีพ มูลนิธิร่วมกตัญญู ทีม MCATT กรมสุขสุขภาพจิต และทีม MCATT กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การกู้ชีพและกู้ภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักสากล โดยมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุให้เร็วที่สุด จากการรายงานข้อมูลของ ER สนาม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลา 08.00 น. มีผู้สูญหาย 96 ราย (ข้อมูล EOC กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) สามารถช่วยเหลือออกมาได้ 9 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก จำนวน 2 ราย ส่งต่อไปรักษา โรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง จำนวน 1 ราย ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารอากาศ(สีกัน) ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย 3 ราย ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน  และผู้ป่วยที่กลับบ้านแล้ว 3 ราย

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์สำรวจความเสียหายตัวอาคาร โดยให้มีการประสานงานวิศวกร เพื่อสำรวจและประเมินโครงสร้างอาคาาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อให้สร้างความมั่นใจการบริการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และให้มีการบูรณาการทรัพยากรโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทุกหน่วยงาน มีการส่งต่อผู้ป่วย จากโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบไปรักษาต่อในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ เพื่อให้ลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆ และจิตอาสาช่วยเหลือในการขนย้ายผู้ป่วย รวมทั้งมีข้อสั่งการให้โรงพยาบาลต่างๆ ออกประกาศสื่อสารกับผู้ป่วย หากหน่วยงานใดได้รับผลกระทบให้สื่อสารผู้ป่วยและญาติให้ชัดเจน เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการให้บริการ ทั้งในส่วนของการบริการผู้ป่วยในและการให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อสร้างความตระหนักและลดความตระหนก รวมทั้งมีการวางแผนการดำเนินงานหากเหตุการณ์กลับมาอยู่ในภาวะปกติ เพื่อให้การบริการผู้ป่วยกลับมาในภาวะปกติได้เร็วที่สุด

************************************** #กรมการแพทย์ #แผ่นดินไหว

                                            - ขอขอบคุณ – 29  มีนาคม 2568



   


View 33    29/03/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์