นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 435) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้พัฒนาการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และสนับสนุนคุณภาพการผลิตพลาสติกบรรจุอาหารของผู้ประกอบการในประเทศ ปัจจุบันห้องปฏิบัติการของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความพร้อมและเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์พลาสติกบรรจุอาหารชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) โดยมีรายการวิเคราะห์ดังนี้ ตรวจเอกลักษณ์พลาสติก การแพร่กระจายทั้งหมด การแพร่กระจายโลหะหนัก 19 รายการ ได้แก่ ตะกั่ว อะลูมิเนียม แบเรียม โคบอลต์ ทองแดง เหล็ก ลิเทียม แมงกานีส นิกเกิล สังกะสี พลวง สารหนู แคดเมียม โครเมียม ปรอท ยูโรเพียม แกโดลิเนียม แลนทานัม และเทอร์เนียม ตรวจการกระจายสารไพรมารีแอโรแมติกแอมีนส์ (PAAs) 26 รายการ และตรวจการแพร่กระจายจำเพาะ (SML) 3 รายการ ได้แก่ เทเรฟทาลิกแอซิด ไอโซฟทาลิกแอซิด และ 2-เมทิล-4-ไอโซไทแอโซลิน-3-โอน ในกรณีลูกค้าทราบว่ามีสารเหล่านี้ในภาชนะบรรจุอาหาร โดยสามารถรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 30 วัน

 




 

อย่างไรก็ตาม สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จะเร่งพัฒนาวิธีวิเคราะห์ SML ให้คลอบคลุมมากที่สุดโดยเร็ว สำหรับผู้ประกอบการสามารถส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ได้ที่ศูนย์รวมบริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 02951 0000 ต่อ 99968 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ http://bqsf.dmsc.moph.go.th/bqsfWeb/index.php/service-icon/ 

 






นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า พลาสติกบรรจุอาหารชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากพลาสติก PET มีความใส น้ำหนักเบา ทนทาน
ต่อแรงกระแทก สามารถป้องกันการซึมผ่านของแก๊สได้ดี จึงนำมาใช้เป็นบรรจุอาหาร อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงต้องมีการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข



   


View 59    28/03/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์