แพทย์ผู้ได้รับรางวัลมหิดลประจำปี 2549 แสดงปาฐกถาพิเศษผลสำเร็จการวิจัยค้นคว้าการพัฒนาการใช้ผงเกลือแร่รักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงให้ทีมแพทย์ นักวิจัย นักวิชาการไทย ที่สถาบันบำราศนราดูร ส่งผลสามารถลดอัตราป่วยตายลงจากร้อยละ 30 เหลือเพียงร้อยละ 3 ส่วนผลความสำเร็จในการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ ในการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงของไทย ซึ่งพบปีละกว่า 1 ล้านราย ทำให้เด็กไทยรอดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ บ่ายวันนี้ (29 มกราคม 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต้อนรับผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลมหิดลประจำปี 2549 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่นายแพทย์เดวิด นาลิน (Dr. David Nalin) นายแพทย์ริชาร์ด เอ. แคช (Dr.Richard A. Cash) และนายแพทย์ดิลิป มหาลานาบิส (Dr. Dilip Mahalanabis) ซึ่งเป็นคณะแพทย์ที่อุทิศตนค้นคว้าวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง โดยการใช้เกลือแร่ทดแทนทางปาก (ORAL REHYDRATION THERAPY : ORT) ซึ่งจะแสดงปาฐกถาเกียรติยศเรื่องสารละลายเกลือแร่ทดแทนทางปาก : การรักษาชีวิต (ORT:A Life –saving Therapy) เผยแพร่ผลงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ไทย ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักวิจัย นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป จำนวนประมาณ 200 คน ที่ห้องประชุมสถาบันบำราศนราดูร นนทบุรี เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างแรงจูงใจให้แก่นักวิชาการไทย ในการค้นคว้าพัฒนาการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ โดยแพทย์ทั้ง 3 ท่านนี้จะเข้ารับพระราชทานรางวัล จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถในวันที่ 31 มกราคม 2550 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นายแพทย์เดวิด อาร์ นาลิน อดีตผู้อำนวยการแผนกวัคซีนและกิจการวิทยาศาสตร์ บริษัทเมอร์ค เมืองเวส์ทพอยต์ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และนายแพทย์ริชาร์ด เอ. แคช อาจารย์บรรยายอาวุโสด้านสุขอนามัยระหว่างประเทศ แผนกประชากรศึกษาและสุขอนามัยระหว่างประเทศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันคิดค้นพัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ ที่มีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง โดยการใช้สารละลายเกลือแร่ทดแทนทางปาก ในช่วงทศวรรษที่ 60 ในขณะที่ปฏิบัติงานในศูนย์ความร่วมมือระหว่างปากีสถานและสหรัฐเอมริกา ผลวิจัยของแพทย์ทั้ง 2 ท่าน ต่อมาได้ถูกใช้เป็นหลักฐานและแนวทางการรักษาผู้ป่วยอหิวาตกโรคและอุจจาระร่วงอย่างแรงอย่างกว้างขวางทั่วโลก ส่วนนายแพทย์ดิลิป มหาลานาบิส ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ สมาคมศึกษาประยุกต์ องค์การวิจัยอิสระ เมืองโกลกาตา อินเดีย ได้เริ่มวิจัยการรักษาโรคอุจาระร่วงด้วยสารละลายเกลือแร่ทดแทนทางปากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามอิสรภาพในบังคลาเทศ และได้เริ่มใช้รักษาผู้ป่วยในค่ายอพยพขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเขตเบงกอล ทางตะวันตกของอินเดีย จำนวนกว่า 3,000 ราย ทำให้ลดอัตราป่วยตายลงเหลือเพียงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยสารละลายเกลือแร่ทางหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว ซึ่งอัตราป่วยตายจะสูงถึงร้อยละ 20 -30 ทั้งนี้การศึกษาวิจัยของนายแพทย์ทั้ง 3 ท่าน ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก เกิดการยอมรับวิธีรักษาอย่างกว้างขวาง คาดกันว่าปีหนึ่งๆมีการใช้สารละลายเกลือแร่ทางปากประมาณ 500 ล้านซอง ช่วยชีวิตผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนากว่า 60 ประเทศ ปีละหลายล้านคน โดยเฉพาะเด็กยากจนในชนบท นายแพทย์มงคลกล่าวว่า นับว่าเป็นความโชคดีแก่วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ที่ได้มีโอกาสได้รับฟังเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการพัฒนาการรักษาโรคอุจจาระร่วงจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ซึ่งโรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินอาหาร ติดจากการกินอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด เกิดได้ทั่วโลก ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแล้วพบได้ร้อยละ 30 ทั่วโลกมีรายงานการเสียชีวิตปีละกว่า 2 ล้านคน โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) ผู้ป่วยโรคดังกล่าวร้อยละ 20 เท่านั้น ที่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 80 สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ โดยกินผงน้ำตาลเกลือแร่ทดแทนส่วนที่เสียไป ในส่วนของประเทศไทย จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคอุจจาระร่วง ในรอบ 10 ปีมานี้ พบว่าจำนวนการป่วยมีแนวโน้มลดลง ทั่วประเทศมีรายงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย เฉพาะในเดือนมกราคม 2550 นี้มีรายงานแล้ว 15,708 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน รองลงมาคือ โรคบิด ไข้เอน เทอริค และโรคอหิวาตกโรค ผู้ป่วย 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่อัตราป่วยตายโรคอุจจาระร่วงฉียบพลันลดลงมากเหลือเพียงร้อยละ 0.01 คาดว่าเป็นผลมาจากการใช้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 โดยอัตราตายลดลงจาก 0.99 ต่อแสนคนใน พ.ศ.2529 เหลือเพียง 0.09 ต่อแสนคนใน พ.ศ. 2548 โดยผลสำรวจอัตราการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ในครัวเรือนทั่วประเทศล่าสุดในปี 2548 พบมีประจำบ้านร้อยละ 93 เพิ่มขึ้นจากปี 2534 ประมาณ 2 เท่าตัว นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ปาก จะเกิดกลไกขับเชื้อออกจากร่างกาย ลำไส้จะบีบตัวมากกว่าปกติ เพื่อขับเชื้อออกจากลำไส้ ทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อย อาจมีอาเจียนร่วมด้วย การแพทย์ในสมัยก่อน จะให้งดน้ำงดอาหาร เพื่อลดการทำงานของลำไส้ และกินยาให้หยุดถ่าย ซึ่งจะเป็นการกักขังเชื้อโรค อาจทำให้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต่อมาได้มีการส่งเสริมวิธีการรักษา โดยให้ผู้ป่วยกินผงน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) ทดแทนน้ำที่สูญเสียไป ซึ่งได้ผลดีมาก และมีราคาถูกหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้เองในบ้านได้ โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1/2 ช้อนชา น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดน้ำปลา (750 มิลลิลิตร) ************************ 29 มกราคม 2550


   
   


View 15    29/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ