เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ร่วมให้เกียรติเป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ การประสานความร่วมมือในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู การจัดการศึกษา การฝึกทักษะอาชีพ และการดูแล ช่วยเหลือ สงเคราะห์ภายหลังปล่อย โดยมี พันตำรวจโทประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ผศ.ดร.ณัฐวัฒน์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นายพงศ์เทพ เพชรโสม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนางภิรมย์รัช เปาริก ประธานบริษัท กู๊ดเทค (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมลงนาม กรมอนามัย ยังได้ร่วมส่งมอบคู่มือแนวทางการประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพตามมาตรฐานสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต สำหรับเด็กและเยาวชนในสถานที่ควบคุม (10 ด้าน) โดยมี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นผู้ส่งมอบ ให้แก่ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมี พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วย นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ ผู้แทนหน่วยงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมฉัตร ชั้น 3 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การส่งมอบคู่มือครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ใช้เป็นแนวทางการประเมินด้านส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังภาวะโภชนาการ สุขภาพช่องปาก การจัดกิจกรรมทางกาย รวมถึง การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ตามมาตรฐานสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต สำหรับเด็กและเยาวชนในสถานที่ควบคุม (10 ด้าน) ประกอบด้วย 1) ด้านที่นอน มีการจัดพื้นที่นอน เครื่องนอน อย่างเพียงพอ 2) ด้านโรงครัว มีสภาพดี สะอาด แสงสว่างเพียงพอ สถานที่เตรียมปรุง ประกอบอาหาร จัดเก็บอาหาร อย่างถูกสุขลักษณะ 3) ด้านโรงเลี้ยง มีพื้นที่จัดเลี้ยงเป็นสัดส่วน เป็นระเบียบ มีความสะอาด มีการระบายอากาศที่ดี อุปกรณ์ มีสภาพพร้อมใช้งาน เพียงพอ 4) ด้านสถานพยาบาล มีการจัดสถานพยาบาลที่เหมาะสมและสะดวกต่อการให้บริการ มียารักษาโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพียงพอ 5)  ด้านการส่งเสริมสุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม และการเฝ้าระวังโรคระบาด มีการคัดกรองเฝ้าระวังโรคระบาด ในเด็กและเยาวชน ก่อนเข้าพื้นที่สถานพินิจฯ/ศูนย์ฝึกฯ ทุกครั้ง 6) ด้านน้ำปลอดภัย มีการดูแลความสะอาด ระบบผลิตน้ำประปา ถังสำรองน้ำประปา และมีการซ่อมบำรุงให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถใช้งานได้ดี มีชุดทดสอบคุณภาพน้ำภาคสนามที่เพียงพอ พร้อมใช้งาน

          “7) ด้านสถานที่ตากผ้า ที่อาบน้ำ ห้องส้วม และสิ่งปฏิกูล มีสถานที่สำหรับการตากผ้าไว้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม ราวตากผ้า มีจำนวนที่เหมาะสมกับจำนวนเด็กหรือเยาวชน พื้นที่อาบน้ำ ไม่มีน้ำท่วมขัง พื้นสะอาด ไม่มีคราบสกปรก 8) ด้านการจัดการขยะ น้ำเสียและบ่อดักไขมัน มีสภาพดี ไม่ชำรุด มีฝาปิดมิดชิด ขนาดเหมาะสมทำความสะอาดง่าย มีแผนการ ควบคุมกำกับดูแลความสะอาด 9) ด้านการจัดการสภาพแวดล้อม ความปลอดภัย การป้องกันอุบัติเหตุ เหตุฉุกเฉิน อาคาร มีสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดสถานที่/ห้องอย่างเป็นสัดส่วน ปราศจากเสียงดังรบกวน 10) ด้านการตรวจวัดคุณภาพด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ มีการตรวจวัดคลอรีน กรณีไม่ได้ตามมาตรฐานต้องดำเนินการปรับปรุง/แก้ไข ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการปฏิบัติเป็นไปทิศทางที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เข้าถึงสิทธิประโยชน์หลักด้านส่งเสริมสุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหารและน้ำ ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เตรียมพร้อมสู่การกลับไปสู่สังคมสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว                                                              

***

กรมอนามัย / 19 กุมภาพันธ์ 2568



   
   


View 37    19/02/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย